ชื่ออาชีพ : ช่างทำเกวียน
ชื่อ : นายแก้ว รินพล
ที่อยู่ : ชุมชนบ้านน้ำล้อม ต. เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างไม้ ช่างทำเกวียน
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : นายแก้ว รินพล ช่างทำเกวียน ช่างไม้ และช่างตีเหล็ก ฝีมือดี รุ่นสุดท้ายของชุมชนบ้านน้ำล้อม อำเภอเกาะคา เดิมได้เรียนรู้วิธีการทำล้อเกวียนมาจากบิดา และได้ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ สามารถผลิตเกวียนออกจำหน่ายเป็นจำนวนมากทั้งภายในพื้นที่จังหวัดลำปางและต่างจังหวัด เคยโยกย้ายไปตั้งเตาทำล้อเกวียนที่บ้านหวด อำเภองาว จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ปัจจุบันอายุ ๘๔ ปี ยังคงรับซ่อมเกวียนและตีมีด
วัสดุ/อุปกรณ์ : อุปกรณ์ตีเหล็ก สำหรับทำเกวียนและตีมีด ได้แก่ ทั่งเหล็ก ฆ้อนและคีมขนาดต่างๆ เตาหลอมเหล็ก
อุปกรณ์ช่างไม้สำหรับใช้ประกอบตัวเกวียน กบไส้ไม้ สิ่ว ฆ้อน
การเลือกวัสดุที่ใช้ในการประกอบเกวียนนั้นคือไม้ชนิดต่างๆเช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้เหียงไม้ตึง ตามรูปแบบการใช้งานของส่วนประกอบนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบสำคัญคือเหล็กแกน เหล็กรัดตีนล้อ และส่วนอื่นๆที่จำเป็นต้องใช้เหล็กรัดไม้เพื่อให้ล้อเกวียนเกิดความแข็งแรง
กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : ในการประกอบเกวียนองค์ประกอบของเกวียนแต่ละส่วนจะใช้ไม้ต่างชนิดกันเช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้เหียงไม้ตึง ตามรูปแบบการใช้งานของส่วนประกอบนั้นๆ สิ่งสำคัญคือไม้จะต้องแก่จัดและแห้งสนิท ไม่มีปมหรือตาไม้ โดยเฉพาะส่วนที่จะต้องเป็นส่วนรับน้ำหนักคือ ซี่ล้อ ฝักขาม คันชัก กันคอ จะต้องเป็นไม้ที่มีเสี้ยนตรงเป็นแนวเดียวกันเนื่องจากจะมีความแข็งแรงและคงทน หากใช้ไม้ที่มาปมมีตา หรือแม้กระทั่งไม้สนเสี้ยน อาจจะทำองค์ประกอบของเกวียนในส่วนดังกล่าวชำรุดแตกหักได้ง่าย หากเกวียนเล่มใดใช้ไม้ที่มีตำหนิดังกล่าวจะถือว่าเป็นเกวียนที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการเลือกไม้จึงถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ทั้งช่างทำเกวียนและผู้ใช้งานจะคำนึงถึงเรื่องไม้เป็นสำคัญ นอกจากจะเลือกไม้ที่มีคุณภาพดีจากการดูเสี้ยนไม้แล้ว วิธีการเลือกเกวียนจากเสียงของเกวียนเวลาที่ลากแสดงถึงคุณภาพของไม้ และช่างมีฝีมือดี หากลากเกวียนแล้วเสียงอับทึบ ไม่ก้อง แสดงว่าไม้ที่ใช้ทำเกวียนยังไม่แห้งอาจมีความชื้นในเนื้อไม้หรือช่างทำเกวียนเข้าไม้ไม่สนิท หากซื้อหามาใช้อาจทำให้เกวียนชำรุดได้ง่าย การใช้ไม้ชื้นหรือไม่แห้งมาทำเกวียนจะทำให้เหล็กที่รัดตรึงไม้ในส่วนต่างๆโดยเฉพาะส่วนดุมและวงล้อหลุดออกจากไม้ได้ง่าย เนื่องจากไม้จะหดตัวเวลาที่อากาศร้อน หากเหล็กหลุดจะทำให้ไม้ฝักขามแตกเสียหายได้ การเลือกใช้ชนิดของไม้ในองค์ประกอบของเกวียนลำปางจะเป็นสูตรตายตัวคือ ดุมล้อ ไม้ประกับ ไม้หมอน จะต้องทำจากไม้ประดู่เหลืองหรือประดู่แดง ซี่ล้อ ฝักขาม จะต้องใช้ไม้สัก ตัวเรือนล้อจะใช้ไม้สองชนิดคือไม้ประดู่สำหรับทำขอบราวที่เรียกว่า “แม่เฮือน” โดยตัวบนจะยาวกว่าตัวล่างพร้อมกับดัดหางให้โค้งขึ้นเล็กน้อย ส่วนซี่ของเฮือนจะทำจากไม้สัก เช่นเดียวกับไม้ปูพื้น บางรายใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะ ส่วนไม้เหียงไม้ตึงนั้นนิยมใช้เป็นคันชักหรือเรียกว่า “ส้าวล้อ”จะต้องมีคุณสมบัติคือความเหนียวบางครั้งอาจจะใช้ไม้ชนิดอื่นแทนได้ ส่วนสุดท้ายคือ “กันคอ” หรือ “แอกคอ” สำหรับพาดลงบนคอสัตว์ที่ใช้ลากจูง ในกรณีใช้วัวไม้กันคอจะมีขนาดเล็กกว่าของควายเนื่องจากมีกำลังมากกว่ามักจะฝืนดื้อไม่ยอมทำตามคำสั่งหรือเกิดอาการ “บิดแอก”ทำให้ไม้ลูกแอกหรือกันคอหักเสียหายได้ จึงจำเป็นต้องใช้ไม้ที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ
วัสดุสำคัญในการทำเกวียนอีกประเภทหนึ่งคือเหล็ก ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำเกวียนเป็นอย่างมาก เหล็กที่ใช้ทำเกวียนมีทั้งหมดสามขนาดกล่าวคือ เหล็กกลมขนาดผ่าศูนย์กลาง ๑.๗ นิ้วสำหรับใช้ทำแกนหมุนและรับน้ำหนัก เหล็กแบนขนาดหนา ๑ เซนติเมตรกว้าง ๑.๗ นิ้วใช้เป็นเหล็กรัดตีนล้อ และเหล็กแบนขนาด๑.๕ นิ้วหนาราว ๐.๗ เซนติเมตร ใช้รัดดุมล้อ เศษที่เหลือจากเหล็กแบนก็จะนำมาทำส่วนประกอบอื่นๆเช่นท่อของแกนเหล็กที่ฝังไว้ในดุมไม้ที่เรียกว่า “บ่าตา” เหล็กที่ใช้ล๊อคหมอน ส้าวล้อ และไม้ประกับให้ยึดตรึงกันเรียกว่า “เขี้ยวหมา” เหล็กที่รัดไม้ประกับแกนเหล็ก เหล็กลิ่มหัวกับ และเหล็กแซ่ ที่ใช้ตอกล๊อกล้อกับแกนล้อ เหล็กเหล่านี้จะเป็นเหล็กรูปที่มาจากโรงงานโดยช่างจะนำมาเผาและตีขึ้นรูปดัดแปลงเป็นส่วนประกอบต่างๆทั้งหมด เช่นเหล็กแกนจะต้องตัดให้ได้ขนาดมาตรฐาน ๘๒ นิ้ว แล้วนำมาเผาไฟแล้วตีหัวทั้งสองข้างให้หลอมเล็กลงแล้วเจาะรูสำหรับตอกแซ่ด้วยวิธีการคือการเผาให้เหล็กแดงแล้วค่อยๆเจาะทีละน้อยจนกว่าจะทะลุถึงกัน หรือการดัดเหล็กให้โค้งกลมให้มีขนาดพอดีกับวงล้อแล้วเชื่อมกันให้สนิทโดยวิธีเผาหัวเหล็กทั้งสองข้างให้ถึงจุดเกือบหลอมละลายแล้วนำมาตีเชื่อมกันซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนนี้ต้องใช้ช่างที่มีประสบการณ์สูง ในยุคหลัง มีการทำแกนเหล็กสำเร็จที่ผ่านโรงกลึงลดกระบวนการหลอมหัวเหล็กและเจาะรูแซ่ อีกทั้งมีเครื่องมือในการเชื่อมเหล็กด้วยระบบไฟฟ้าที่สะดวกขึ้น
ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง : ความเชื่อเรื่องผีเตาล้อหรือผีเตาเส่า เชื่อว่าจะการเลี้ยงผีเตาล้อจะนำมาซึ่งความสุขร่มเย็นของคนในครอบครัว การทำงานไม่มีอุปสรรคหรืออันตราย และทำมาค้าขายดี โดยขั้นตอนคือการเตรียมข้าวตอกดอกไม้พร้อมทั้งเหล้าขาว ๑ ขวน และไก่ต้มจำนวน ๑ คู่ มาวางเซ่นไหว้บริเวณหน้าเตา แล้วบอกกล่าวคำถวายเครื่องเซ่นไหว้แก่ผีเตาเส่าเป็นเสร็จพิธี
แหล่งข้อมูล : บทความ “ล้อละกอน”ตามรอยเกวียนสกุลช่างลำปาง (ธวัชชัย ทำทอง ผู้เขียน)วารสารร่มพะยอม ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้บันทึก : Tawatchai tumtong
วันที่บันทึก : 26/07/2564
เปิดอ่าน : 1,290 ครั้ง
การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
1. Tawatchai tumtong,
ช่างทำเกวียน.
https://www.lampangculture.com. 2564. แหล่งที่มา : https://www.lampangculture.com/a1-view.php?id=1 ค้นเมื่อ
21 พฤศจิกายน, 2567.