อาชีพ ถักปอบหวาย
ชื่ออาชีพ : ถักปอบหวาย
ชื่อ : แม่พลอย ศิริ
ที่อยู่ : บ้านเหล่า ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างหัตกรรม
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : ในเขตจังหวัดลำปางมีแหล่งตีดาบโบราณที่ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คือ ดาบจากบ้านขามแดง อำเภอห้างฉัตร แต่องค์ประกอบของดาบนอกจากใบดาบแล้ว ยังมีฝัก ด้าม เชือก และการถักปอบหวายเพื่อรัดฝักกับด้าม กระบวนการผลิตในองค์ประกอบต่างๆ กระจายอยู่ตามหมู่บ้านโดยรอบบ้านขามแดง สำหรับการถักปอบหวาย คือ การใช้เส้นหวายที่ผ่านการจักเป็นเส้นขนาดเล็ก ถักเป็นวงกลมให้เกิดเป็นลายคล้ายการถักเปียเส้นผม แล้วจึงนำมาสวมฝักดาบเพื่อให้ฝักประคบเข้าคู่กัน และสวมเข้ากับด้ามดาบจนเต็มด้าม เพื่อให้พื้นผิวด้ามดาบมีความสาก เวลาใช้งานจะทำให้ดาบไม่หยุดได้ได้ง่าย
แม่พลอย ศิริ เป็นหนึ่งในช่างถักปอบหวายรัดดาบของบ้านเหล่า ท่านเริ่มฝึกหัดครั้งแรกกับพ่ออุ๊ยปึ๋ง ซึ่งเป็นคุณปู่ของท่าน เมื่ออายุได้ ๘ ปี โดยใช้เวลาฝึกทำหลังจากเลิกเรียน แล้วเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการเหลาหวาย และถักหวายจนทำเป็นทุกขั้นตอน เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ก็ได้ออกมารับจ้างถักหวายใส่ฝักดาบและด้ามดาบ ในราคายุคนั้นเริ่มที่ฝักละ ๗๐ สตางค์ การถักหวายลายดังกล่าวชาวบ้านจะเรียกว่า “การถักปอบสาม ปอบห้า” โดยใช้หวายจากจังหวัดเชียงราย ในปัจจุบันแม่พลอยใช้หวายกาหลง ซึ่งเป็นหวายนำเข้าจากต่างประเทศ โดยหาซื้อมาจากจังหวัดเชียงใหม่
วัสดุ/อุปกรณ์ : วัสดุ หวาย

อุปกรณ์ มีดเหลา ผ้ารองมือ

กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : การจักหวาย
การจักหวายเริ่มจากการตัดหวายให้เป็นท่อนยาวประมาณ ๔๐-๖๐ เซนติเมตร จากนั้นใช้มีดเหลาผ่าและจักเป็นเส้นขนาดเล็กประมาณ ๑ มิลลิเมตร หรือขึ้นอยู่กับความสามารถในการจักหวายของแต่ละคน โดยใช้เฉพาะส่วนผิวหวาย

การถักปอบ
การถักปอบหวาย ๑ ปอบ ใช้เส้นหวายเพียง ๑ เส้น โดยนำเส้นหวายที่จักได้ขนาดตามต้องการแช่น้ำให้อ่อนนุ่ม และมีความเหนียว จากนั้นนำเส้นหวายมาพันรอบฝัก หรือด้ามดาบสองรอบ ณ จุดที่ต้องการให้สวมปอบหวาย ใช้หัวแม่มือกดจุดและประคองวงหวายออกมาเพื่อทำการถัก โดยเริ่มจากการถัก “ปอบสาม” แล้วปลายเส้นหวายแทงไปตามลายอีก ๒ รอบ ก็จะได้ “ปอบห้า” ซึ่งจะทำให้ปอบหวายมีลายถักที่แน่นและละเอียดสวยงาม เมื่อถักเสร็จแล้ว ก็นำปอบหวายสวมรัดเข้าไปตรงตำแหน่งที่วัดไว้ ปอบหวายที่เส้นทำในลักษณะเดียวกันแล้วนำมาสวมฝักและด้ามจนเต็มสมบูรณ์ การถักหวายใส่ดาบที่เล่มใช้เวลาประมาณ ๕ – ๖ วัน ราคาประมาณ ๑,๐๐๐ บาท
ปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์ดาบโบราณได้รับความนิยมจากผู้ที่มีใจรักในอาวุธโบราณ มีการสั่งผลิตดาบโบราณเป็นจำนวนมาและอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการสะสมดาบเก่า ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดจากการใช้งาน จึงมีการนำมาบูรณะซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้งานถักหวายยังดำรงอยู่ได้ในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง : มีการไหว้ครูในช่วงเดือน ๙ เหนือ ด้วยไก่และผลไม้
แหล่งข้อมูล : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม. รายงานเครื่องจักสารนครลำปาง, ลำปาง : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ๒๕๖๓.
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 04/09/2564
เปิดอ่าน : 640 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง