อาชีพ สานกุบละแอ
ชื่ออาชีพ : สานกุบละแอ
ชื่อ : พ่อแสวง ศิริ
ที่อยู่ : บ้านเหล่า ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างหัตกรรม
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : กุบละแอ หรือกุบศึก คือหมวกที่ใช้ประกอบการแสดงยศทางทหาร และใช้สำหรับเจ้าเมืองหรือเหล่าแม่ทัพคนสำคัญๆ ในหัวเมืองล้านนา รวมไปถึงใช้สำหรับสวมออกศึกลักษณะเป็นหมวกปีกกว้าง ยอดแหลม สานด้วยไม้ไผ่แล้วทาเคลือบผิวด้วยรักกระแหนะ ขัดผิวจนเรียบเนียน แล้วนำมาประดับโดยการปั้นรักกระแหนะ ให้เป็นลวดลายที่สวยงาม และลงรักปิดทอง
จากกระแสล้านนานิยมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีกลุ่มบุคคลที่โหยหาความเป็นนักรบโบราณล้านนา ซึ่งมักจะมีกุบละแอเป็นส่วนประกอบ ด้วยพ่อแสวง ศิริ ซึ่งมีฝีมือในงานจักสานอยู่แล้ว คุณพงษ์พรรณ เรือนนันชัย ศิลปินล้านนาและนักสะสมอาวุธโบราณ จึงนำกุ๊บละแอโบราณมาเป็นตัวอย่างให้พ่อแสวงได้ทดลองสาน จนมีความเชี่ยวชาญ สามารถต่อยอดสานกุบได้หลากหลายรูปทรง ตามที่ลูกค้าต้องการ รูปทรงที่สานอยู่เป็นประจำคือ กุบละแอ กุบกะโล่ กุบกะโล่ทรงสูงปีกสั้น จำหน่ายในราคาใบละ ๕๐๐ – ๘๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาด สำหรับการสานกุบจะใช้เวลาประมาณ ๒ วัน ต่อกุบ ๑ ใบ

วัสดุ/อุปกรณ์ : วัสดุ หวาย ไม้ไผ่บง ไม้ไผ่ไร่ลอ ไม้สักกลึง

อุปกรณ์ มีด มีดเหลา เข็มใหญ่ เส้นด้าย กาวร้อน หุ่นแม่แบบ กรรไกร

กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : การจักตอก
นำไม้ไผ่ไร่รอ หรือไม้ไผ่บง มาตัดให้มีความยาวตามปล้องไม้ไผ่ ซึ่งจะมีความยามประมาณ ๔๐ – ๖๐ เซนติเมตร จากนั้นขูดผิวออกให้หมด แล้วนำมาผ่าเป็น ๔ ส่วน นำมาผ่าเอาเนื้อไม้ด้านในทิ้ง เนื่องจากเนื้อไม้ไผ่ส่วนนี้มีความอ่อนไม่เหมาะสำหรับจักสาน อีกทั้งเป็นการกำหนดขนาดหน้ากว้างของเส้นตอกด้วย จากนั้นจึงใช้มีดเหลาปลายไม้ด้านใดด้านหนึ่งให้มีความแหลม แล้วจึงจักไม้ไผ่ให้เป็นเส้นตอกให้มีความหนาตามต้องการ เส้นตอกไม้ไผ่จะใช้เป็นตอกเส้นยืน หรือที่เรียกว่า “ตอกซั่ง” ส่วนเส้นที่สานจะใช้เส้นหวายที่มีความกว้างประมาณ ๓ มิลลิเมตร โดยหาซื้อมาจากร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่

การสานกุบละแอ
การสานกุบเริ่มจากนำเส้นตอก ๑๓ เส้น มามัดบริเวณยอดของหุ่นแม่แบบที่ตั้งบนฐานไม้ที่สามารถหมุนได้ เพื่อความสะดวกในขณะที่สาน แล้วใช้เส้นหวายสานลายสองลงมา เมื่อสานได้ช่วงหนึ่งจะมีการเสริมเส้นตอกยืนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้ปีกกุบแผ่ขยายปีกให้กว้างและบานออกไป เมื่อสานได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว จะนำไม้ไผ่เส้นยาว ๒ เส้น มาประกบด้านบน – ล้าง ของขอบกุบ แล้วเย็บเก็บขอบกุบและใส่หูร้อยสายกุบ สุดท้ายนำไม้สักที่กลึกเป็นรูปทรงดอกบัวยอดแหลมมาเสียบเป็นยอดกุบ ก็จะทำให้ได้โครงกุบละแอที่เสร็จสมบูรณ์ สามารถจำหน่ายให้ผู้ซื้อนำไปตกแต่งในส่วนของงานรักเป็นขั้นตอนต่อไป


ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง :
แหล่งข้อมูล : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม. รายงานเครื่องจักสารนครลำปาง, ลำปาง : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ๒๕๖๓.
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 04/09/2564
เปิดอ่าน : 1,938 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง