อาชีพ สล่าตีดาบ ๓
ชื่ออาชีพ : สล่าตีดาบ ๓
ชื่อ : นายบุญตัน แก้วเสมอใจ
ที่อยู่ : บ้านห้างฉัตรเหนือ ต.ห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างตีเหล็ก
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : บ้านห้างฉัตรเหนือมีสล่าตีดาบที่มีฝีมือ คือ นายบุญตัน แก้วเสมอใจ หรือพ่อสล่าตัน ท่านเริ่มฝึกหัดตีมีดตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๗ กับพ่อซึ่งเป็นตระกูลที่สืบทอดการตีดาบจากบรรพบุรุพมาตั้งแต่อดีต โดยพ่อของสล่าบุญตันเป็นผู้ถ่ายทอดให้ แรกเริ่มในการฝึกท่านได้ตีดาบก่อน จากนั้นท่านจึงหันมาตีมีดอีโต้ มีดทำครัวร่วมด้วยทำให้ไม่ได้ตีดาบแบบต่อเนื่อง ท่านเล่าให้ฟังว่าดาบที่นิยมกันในสมัยก่อนจะเป็นดาบทรงใบข้าว และทรงว้ายลำปาง ซื้อขายกันคิดเป็นกำมือ กำละ ๑ บาท ใช้เหล็กอังกฤษหรือเหล็กหัวแดง หรือเหล็ก K99 จากนั้นก็ใช้เหล็กแหนบในการตีดาบ
ต่อมาพ่อสล่าตันยึดการตีมีดเป็นหลัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ พ่อสล่าตันได้กลับมาเริ่มตีดาบอย่างจริงจังอีกครั้ง โดยการส่งเสริมของอาจารย์พงพรรณ เรือนนันชัย เข้ามารื้อฟื้นปรับปรุงรูปแบบ ทั้งทรงดาบ ทรงใบง้าว จนทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักของกลุ่มคนที่สนใจดาบเมืองจนถึงทุกวันนี้

วัสดุ/อุปกรณ์ : ๑. เหล็กแท่ง ๒. เตาเส่า ๓. รางน้ำ ๔. คีม ๕. ค้อน ๖. ทั่ง ๗. ตะไบ
กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : ขั้นตอนแรกสล่าจะตัดเหล็กแนบเป็นใบสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว จากนั้นมาเผาไฟให้แดงเพื่อให้เนื้อเหล็กมีความอ่อนตัวแล้วทุบขึ้นทรงดาบ ขั้นตอนนี้จะใช้สล่าประมาณ ๒ – ๓ คน โดยมีคนใช้ค้อนทุบเหล็ก ๑ – ๒ คน และคนคีบเหล็ก ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่คอยควบคุมการทุบและกำหนดรูปแบบทรงดาบอีก ๑ คน เมื่อได้ทรงดาบเรียบร้อยแล้ว สล่าจะนำตีไล่ทรงเก็บรายละเอียดอีกครั้ง ขั้นตอนต่อมาสล่าจะใช้ตะใบปัดตกแต่งใบดาบพร้อมกับการทำคมดาบ หากมีการตกแต่งสันดาบด้วยการฝักทองเหลือง ทองแดง หรือการทำร่องเลือด และการตอกตราบนใบดาบก็จะทำในขั้นตอนนี้ ลำดับสุดท้ายคือการชุบคมดาบ สล่าจะนำใบดาบที่ตกแต่งเรียบร้อยแล้ว นำมาเผาเมื่อเนื้อเหล็กแดงได้ที่ตามความต้องการ จะนำมาใบดาบค่อยๆ จุ่มลงไปในน้ำ ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ หากผู้ชุบคมไม่มีความชำนาญอาจจะทำให้ใบดาบเสียรูปทรงได้ง่าย
ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง : ในช่วงวันปีใหม่เมือง มีพิธีเลี้ยงเจ้าเตา ด้วยเหล้าไห ไก่คู่
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 04/09/2564
เปิดอ่าน : 2,770 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง