อาชีพ สล่าตีดาบ ๑
ชื่ออาชีพ : สล่าตีดาบ ๑
ชื่อ : นายบุญตัน สิทธิไพศาล
ที่อยู่ : บ้านขามแดง ต.ห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างตีเหล็ก
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : เหล็ก ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการตีดาบ ในอดีตการตีดาบของบ้านขามแดงน่าจะอาศัยเหล็กจากบ่อเหล็กที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น บ่อเหล็กเมืองลอง เป็นต้น ซึ่งในยุคการปกครองระบบของเจ้าหลวง เมืองลองถือได้ว่าเป็นหัวเมืองหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหลวงเมืองลำปาง ทุกปีเจ้าเมืองลองต้องนำเหล็กจากบ่อเมืองลองมาถวายเป็นบรรณาการ เหล็กเหล่านั้นส่วนหนึ่งคงถูกส่งไปตีเป็นดาบที่บ้านขามแดง เพื่อนำมาอาวุธปกป้องบ้านเมืองในยามศึกสงคราม และการดูแลบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุข เหตุที่สันนิฐานว่าต้องส่งเหล็กไปตีเป็นดาบที่บ้านขามแดงนั้น เนื่องจากเป็นบ้านขามแดงเป็นแหล่งตีดาบเพียงแห่งเดียวของเมืองลำปาง แหล่งอื่นที่มีเตาตีเหล็กมักจะทำเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น บ้านกาศเมฆและบ้านป่าแลว เป็นแหล่งตีมีดและขวาน บ้านศรีหมวดเกล้า เป็นแหล่งตีสิ่วและเครื่องมือทางการเกษตร เป็นต้น เมื่อการสร้างทางรถไฟเข้ามาถึงเมืองลำปางในปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ สิ้นค้าต่างๆ จากกรุงเทพถูกส่งขึ้นมาขายในเมืองลำปาง รวมทั้งเหล็กเนื้อดีจึงทำให้ดาบเมืองลำปางมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของท้องตลาด จนมีคำเรียกขานว่า “ดาบลำปางสมัยหลังสงครามโลก” นอกจากเหล็กคุณภาพดีแล้วยังมีการใช้เหล็กรางรถไฟมาตีเป็นตัวดาบ ปัจจุบันสล่าตีดาบนิยมใช้เหล็กแหนบรถยนต์แทนเหล็กกล้าที่มีคุณภาพดี เนื่องจากเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งดาบก็ไม่ได้ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวเหมือนสมัยก่อน เพียงแต่เป็นของสะสม และที่ระลึกเท่านั้น ในอดีตการนำขายไปขายนอกจากส่งไปขายตามเมืองต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบนแล้ว พ่อค้าดาบ บางคนได้นำดาบลงไปขายในเขตภาคกลางในเทศกาล “พระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดสุโขทัย” และ “พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี” เป็นประจำทุกปี ต่อมาความนิยมการใช้ดาบเป็นอาวุธได้ลดความนิยมลง ประกอบกับการห้ามพกพาอาวุธในที่สาธารณะ จึงเป็นเหตุให้สล่าตีดาบได้เลิกทำดาบจนเกือบหมดผู้ทรงความรู้ เหลือแต่การตีดาบเพื่อขายเป็นของที่ระลึก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อรูปทรง สัดส่วน และความงามของตัวดาบ ดาบชนิดนี้มีวางขายอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในตลาดทุ่งเกวียนซึ่งเป็นแหล่งขายที่ใหญ่ที่สุด ดาบชนิดนี้มักจะเรียกว่า “ดาบดำ ดาบแดง” เพราะนิยมทาสีด้ามและฝักดาบด้วยสีดำ หรือสีแดง แต่ก็ยังมีผู้สืบทอดภูมิปัญญาการตีดาบแบบโบราณไว้ ซึ่งได้ทำดาบแบบโบราณมาจนถึงทุกวันนี้
นายบุญตัน สิทธิไพศาล หรือ โกเนี้ยว เริ่มตีดาบเมื่ออายุได้ ๑๒ ปีร่ำเรียนการตีดาบจาก “พ่อมา แก้วคำอ้าย” ซึ่งเป็นช่างตีมีดดาบที่เก่งและมีชื่อเสียงมากของหมู่บ้านขามแดง ในอดีตไม่มีการนำมาวางขายทั่วไป จะมีการซื้อ-ขายเฉพาะกลุ่มบุคคลที่รู้จักเท่านั้น นอกจากนี้โกเนี้ยวยังเล่าให้ฟังอีกว่า แรกเริ่มมีการนำดาบและมีดที่ตีได้ไปขายในงาน “ประเพณีรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี” นำไปขายเฉพาะใบดาบเท่านั้น ความยาวของใบดาบอดีตเริ่มตั้งแต่ ๕ กำมือ (ประมาณ ๑๖ นิ้ว) ถึง ๓๐ นิ้ว ปลายของดาบทำตามลูกค้าสั่ง
จากการสังเกตลักษณะจำเพาะของดาบโกเนี้ยว ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวที่โดดเด่นคือ คอทองแดง เป็นการนำทองแดงมาหุ้มโคนของใบดาบ ซึ่งเป็นลักษณะมาจากดาบโบราณ มีลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่คล้ายกับดาบซามูไร ของประเทศญี่ปุ่น ดาบของโกเนี้ยวจะไม่ใช้เหล็กแหนบในการตีดาบ ส่วนใหญ่นิยมใช้เหล็ก K990 ซึ่งเป็นเหล็กที่มีลักษณะที่แตกต่างจากเหล็กทั่วไปที่หักในทางขวาง คือเป็นเหล็กที่แตกไปในทางยาว ฉะนั้นดาบจะไม่หักง่ายซึ่งเป็นลักษณะที่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งให้ความสนใจ


วัสดุ/อุปกรณ์ : ๑. เหล็กแท่ง ๒. เตาเส่า ๓. รางน้ำ ๔. คีม ๕. ค้อน ๖. ทั่ง ๗. ตะไบ

กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : การตีใบดาบของบ้านขามแดงในปัจจุบัน นิยมใช้เหล็กแหนบรถยนต์ เนื่องจากเป็นเหล็กที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ทั้งเนื้อเหล็กยังมีความเหนียว และความแกร่งกำลังพอดีเหมาะสำหรับนำมาตีเป็นใบดาบ ขั้นตอนแรกสล่าจะตัดเหล็กแนบเป็นใบสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว จากนั้นมาเผาไฟให้แดงเพื่อให้เนื้อเหล็กมีความอ่อนตัวแล้วทุบขึ้นทรงดาบ ขั้นตอนนี้จะใช้สล่าประมาณ ๒ – ๓ คน โดยมีคนใช้ค้อนทุบเหล็ก ๑ – ๒ คน และคนคีบเหล็ก ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่คอยควบคุมการทุบและกำหนดรูปแบบทรงดาบอีก ๑ คน เมื่อได้ทรงดาบเรียบร้อยแล้ว สล่าจะนำตีไล่ทรงเก็บรายละเอียดอีกครั้ง ขั้นตอนต่อมาสล่าจะใช้ตะใบปัดตกแต่งใบดาบพร้อมกับการทำคมดาบ หากมีการตกแต่งสันดาบด้วยการฝักทองเหลือง ทองแดง หรือการทำร่องเลือด และการตอกตราบนใบดาบก็จะทำในขั้นตอนนี้ ลำดับสุดท้ายคือการชุบคมดาบ สล่าจะนำใบดาบที่ตกแต่งเรียบร้อยแล้ว นำมาเผาเมื่อเนื้อเหล็กแดงได้ที่ตามความต้องการ จะนำมาใบดาบค่อยๆ จุ่มลงไปในน้ำ ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ หากผู้ชุบคมไม่มีความชำนาญอาจจะทำให้ใบดาบเสียรูปทรงได้ง่าย โดยทั่วไปลักษณะของใบดาบจะมีที่โคนดาบแคบและสันหนา แล้วใบดาบค่อยๆ ใหญ่ขึ้น ส่วนสันดาบเรียวเล็กลงไปหาท้องดาบ และเรียวแหลมในช่วงปลายดาบ การกำหนดทรงดาบ หรือใบดาบ ขึ้นอยู่กับการเลือกลักษณะปลายดาบ ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะดังนี้ ๑. ดาบปลายเหลี้ยม มีลักษณะเป็นดาบปลายแหลมคม เน้นการแทงทะลุและฟัน ดาบปลายเหลี้ยมนี้ยังสามารถแยกลักษณะย่อยได้คือ ดาบปลายแซว ดาบปลายเหลี้ยมใบข้าว ดาบปลายเหลี้ยมใบคา ๒. ดาบปลายว้าย เป็นดาบที่ลักษณะคล้ายกับปลายเหลี้ยม แต่มีข้อแตกต่างกันในส่วนของทรงใบ ใบดาบปลายว้ายจะมีความกว้างเสมอกันตั้งแต่โคนจนถึงปลาย ปลายดาบจะเชิดขึ้นเล็กน้อย ดาบชนิดนี้เน้นการฟันเป็นหลัก ๓. ดาบปลายบัว ดาบชนิดนี้จะมีปลายดาบที่มีลักษณะโค้งมนคล้ายกลีบดอกบัว ทรงดาบสวยงาม ปลายดาบชนิดนี้มีสามารถแยกลักษณะย่อยได้ คือ ดาบปลายบัวป้าน ดาบปลายบัวจี๋ ดาบปลายบัวหัวเหยี่ยน ๔. ดาบปลายตัด หรือดาบปลายเปียง เป็นดาบที่มีลักษณะปลายทู่ ไม่แหลมคมเหมือนปลายดาบลักษณะอื่นๆ เน้นการฟ้นและเฉือน ดาบชนิดนี้มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า สมัยที่พม่าปกครองล้านนา ด้วยความที่เกรงว่าชาวล้านนาจะคิดกอบกู้เอกราช เป็นกบฏต่อหงสาวดีจึงได้ตัดปลายดาบของชาวล้านนาทิ้ง ส่งผลให้กลายเป็นดาบปลายเปียงสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง : ในรอบหนึ่งปีจะมีพิธีเลี้ยงครู ปีละ ๒-๓ ครั้ง เช่น ช่วงปีใหม่เมืองสงกรานต์ สารทจีน และเทศการตรุษจีน
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 26/07/2564
เปิดอ่าน : 2,634 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง