อาชีพ สล่าทำฝัก-ด้ามดาบ
ชื่ออาชีพ : สล่าทำฝัก-ด้ามดาบ
ชื่อ : นายบุญช่วย มาปะละ
ที่อยู่ : บ้านเหล่า ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างไม้
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : การทำด้ามและฝักดาบจะกระจายตัวอยู่ในหมู่บ้านเหล่า หมู่ที่ ๒ ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ไม้ที่นิยมนำมาทำด้ามดาบได้แก่ ไม้บงป่า เป็นไม้ไผ่ประเภทหนึ่งที่ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณ หาได้ทั่วไปในเขตภาคเหนือตอนบน การเลือกไม้ต้องเป็นไม้ที่มีลำปล้องตรง มีรูตรงกลางขนาดเล็กสามารถเผากั่นดาบตอกลงไปได้โดยไม่ต้องใช้สว่านเจาะนำร่อง ไม้บงที่นำมาทำด้ามดาบต้องตัดแล้วนำมาย่างรมควน หรือทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ ๖ เดือน เป็นอย่างน้อย สำหรับไม้ที่นำมาทำฝักดาบจะต้องเป็นไม้ที่คุณสมบัตินุ่มเบา เหนียว เช่นไม้ชมเห็ด ไม้เนา ไม้ยม เป็นต้น ปัจจุบันไม้เหล่านี้เริ่มหายากจึงใช้ไม้สักทดแทน ไม้เหล่านี้เมื่อตัดมาจากป่าต้องถากขึ้นรูปเป็นทรงฝักดาบ แล้วนำมาเก็บไว้รอจนกว่าไม้จะแห้ง ใช้เวลาประมาณ ๖ เดือน เมื่อแห้งสนิทแล้วนำไม้มาผ่าครึ่งตามยาม ใช้มีเหลาเฉือนเนื้อไม้ออกให้เป็นร่องสำหรับสอดใบดาบได้พอดี การทำด้ามและฝักต้องให้มีความสัมพันธ์กัน คือ ให้บริเวณช่วงต่อระหว่างด้ามกับฝักทำให้มีขนาดที่เสมอ หรือใกล้เคียงกัน เผื่อความสวยงามของตัวดาบ
วัสดุ/อุปกรณ์ : ๑. มีด
๒. มีดเหลา (มีดตอก)
๓. สว่าน
๔. กบผีเสื้อ
๕. กระดาษทราย
กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : วิธีการทำด้ามดาบ
๑. ตัดไม้ไผ่ให้ได้ความยาวประมาณ ๒ ใน ๓ ของใบดาบ
๒. ถากตกแต่งต้นด้าม มีขนาดใหญ่ และเรียวลงขนานกันไปจนถึงสุดปลาย มีขนาดจับได้พอดีมือ
๓. ขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวไม้เรียบเนียน
๔. เจาะรูเพื่อใส่กั่นดาบ

วิธีการทำฝักดาบ
๑. ตัดไม้ยาวประมาณ ๑ เมตร ถากตกแต่งคร่าวๆให้ได้รูปทรงของของฝักดาบ
๒. ใช้เลื่อยวงเดือนผ่าไม้ออกเป็น ๒ ซีก จากนั้นนำใบดาบมาทาบ และร่างเส้นดินสอตามทรงของใบดาบลงบนไม้ ๑ ซีก
๓. ใช้มีดเหลา คว้านให้ได้เป็นร่องตามรูปทรงที่วาดไว้
๔. วาดและคว้านไม้อีกซีกแบบเดียวกันกับซีกแรก
๕. นำไม้ทั้งสองซีกมาประกบกัน และนำใบดาบมาเสียบเข้ากับฝัก ถ้าหากใบดาบติดขัดก็จะทำการแก้ไขจนเสียบใบดาบได้พอดีไม่คับ และไม่หลวมเกินไป
๖. นำใบดาบที่ใส่กับด้ามมาเสียบ ทำการเหลาแต่งขอบนอกของหน้าตัดฝักให้ได้ขนาดเท่ากันกับต้นด้ามจับ ตกแต่งภายนอกโดยใช้เต่าก้อม และเต่าก่ำบี้ ไสให้ได้รูปทรงที่สวยงามและได้ขนาดที่กะทัดรัด
๗. ขัดแต่งฝักดาบด้วยกระดาษทรายเพื่อความละเอียดสวยงาม และนำทั้งฝักดาบและด้ามดาบ เตรียมส่งไปให้ช่างถักหวายต่อไป

ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง :
แหล่งข้อมูล : รายงานโครงการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศภูมิปัญญาดาบนครลำปาง ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 26/07/2564
เปิดอ่าน : 1,318 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง