ชื่ออาชีพ : สานกล่องข้าวบ้านไผ่ (กล่องข้าวเมืองมาย)
ชื่อ : นางเพ็ญศรี ลาภเกิด
ที่อยู่ : บ้านนางาม ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างหัตกรรม
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : กล่องข้าวบ้านไผ่ หรือกล่องข้าวเมืองมาย เป็นเครื่องจักสานที่สะท้อนเอกลักษณ์ของกลุ่มคนวัฒนธรรมข้าวเหนียวได้เป็นอย่างดี เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกเพื่อการบริโภคตลอดทั้งวัน ในวัฒนธรรมล้านนามีภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวพบอยู่ ๒ ชนิด ได้แก่ “แอ๊บข้าว” เป็นภาชนะที่สานด้วยใบตาล และ “กล่องข้าว” เป็นภาชนะที่สานด้วยเส้นตอกรูปทรงกระบอก ในแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีรูปทรงที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้จักสาน
ปัจจุบันกล่องข้าวบ้านไผ่ มีแหล่งผลิตอยู่ในหมู่บ้านไผ่แพะ บ้านนางาม บ้านนาไหม้ ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นกล่องข้าวที่มีลวดลายอันเกิดจากการสานเส้นตอกที่ย้อมสีดำขัดกับเส้นตอกสีธรรมชาติ กลายเป็นความโดดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนจนทำให้ “คานบ๊อค”นักธรรมชาติวิทยา
ชาวนอร์เวย์ที่เข้ามาสำรวจพื้นที่ในเขตภาคเหนือในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ ถึงกับวาดภาพเพื่อบันทึกความงดงาม
ของกล่องข้าวบ้านไผ่เก็บไว้
ในอดีตการสานกล่องข้าวถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในพื้นที่ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของตำบลเมืองมายเป็นที่ราบหุบเขาขนาดเล็ก จึงทำให้มีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับทำปลูกข้าว ส่งผลให้มีข้าวไม่พอกับการบริโภคตลอดทั้งปี ผู้คนในเขตตำบลเมืองมายหายทางออกด้วยการสานกล่องข้าวนำไป
แลกข้าวในตัวอำเภอแจ้ห่ม โดยกล่องข้าว ๑ ใบ แลกได้ข้าวสาร ๑ ลิตร หรือนำไปขายใบละ ๓ บาท
การเดินทางต้องเดินเท้าจากหมู่บ้านแต่เช้ามืดลัดเลาะไปตามป่าเขาใช้เวลาประมาณ ๓ – ๔ ชั่วโมง ก็จะถึงตัวอำเภอแจ้ห่ม
ปัจจุบันการสานกล่องข้าวตีวงจำกัดอยู่ใน ๒ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านไผ่แพะ และบ้านนางาม ทั้งสองหมู่บ้านได้รับการสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูการจักสานกล่องข้าวขึ้นมาใหม่ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ก่อนหน้านั้นมีความพยายามรวมกลุ่มเครื่องจักสานในพื้นที่ แต่เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการบริหารภายในกลุ่ม จึงเป็นสาเหตุทำให้การจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวได้สลายตัวไปในที่สุด
ลักษณะกล่องข้าวบ้านไผ่สามารถแบ่งประเภทได้ ๓ ลักษณะ คือ ๑. การแบ่งตามรูปทรง สามารถแบ่งออกได้สองรูปแบบ ได้แก่ กล่องข้าวคอกิ่ว เป็นลักษณะกล่องข้าวที่มีรูปทรงกระบอก แต่จังหวะการสานช่วงใกล้ปากกล่องจะสานสอบเข้าทำให้ปากกล่องมีขนาดเล็กกว่าตัวกล่อง และกล่องข้าวคอเลิง เป็นกล่องข้าวที่มีลักษณะตัวกล่องและปากกล่องมีขนาดเท่ากัน ๒. การแบ่งตามลักษณะการสาน ก็แบ่งได้สองรูปแบบ ได้แก่ กล่องข้าวลาย เป็นลักษณะกล่องข้าวที่สานด้วยเส้นตอกย้อมสีดำสลับกับเส้นตอกสีธรรมชาติ และกล่องข้าวขาว เป็นกล่องข้าวที่สานด้วยเส้นตอกสีธรรมชาติ เมื่อตอกแห้งสนิทจะมีสีขาวนวล และ ๓. การแบ่งตามขนาด
กล่องข้าว สามารถแบ่งออกได้ ๓ รูปแบบ ได้แก่ กล่องข้าวหลวง เป็นกล่องขาวที่มีขนาดใหญ่ สามารถบรรจุข้าวเหนียวไว้ได้ปริมาณที่มาก นิยมนำไปถวายวัดเนื่องจากหากมีงานบุญที่วัด ก็จะนำกล่องข้าวหลวงนี้มาใส่
ข้าวเหนียวสำหรับเลี้ยงดูผู้ที่มาร่วมงานบุญได้เป็นจำนวนมาก กล่องข้าวธรรมดา เป็นกล่องข้าวขนาดที่พอดี บรรจุข้าวเหนียวพอดีสำหรับรับประทานภายในหนึ่งวัน เหมาะสำหรับการใช้ในครัวเรือน และ กล่องข้าวน้อย เป็นกล่องข้าวที่เหมาะสำหรับการใส่ข้าวเหนียวเพื่อรับประทานเพียงคนเดียว ส่วนใหญ่นิยมใช้ใส่ข้าวไปกินตามท้องไร่ท้องนา หรือใส่ข้าวเหนียวเป็นส่วนประกอบในสังฆทาน เพื่อทำบุญถวายพระในช่วงเทศกาลงานบุญต่างๆ
ความโดดเด่นของกล่องข้าวบ้านไผ่ หรือเครื่องจักสานของตำบลเมืองมาย คือ ลวดลาย ที่ผู้สานรังสรรค์ตามความชำนาญและจิตนาการในขณะที่สาน หรือ “ไป่” เกิดเป็นลวดลายที่หลากหลายและสืบทอดกันมา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มเครื่องจักสานตำบลเมืองมาย
วัสดุ/อุปกรณ์ : วัสดุ ตอกผิว หวาย ไม้กระด้าง ไม้เนื้อแข็ง
อุปกรณ์ มีด มีดเหลา เหล็กหมาด เหล็กจี สีย้อม
กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : การสานกล่องข้าว ในพื้นที่ตำบลเมืองมายจะเรียกว่า “ไป่กล่องข้าว” การสานกล่องชั้นในจะใช้เส้นตอกที่มีขนาดที่หนากว่าตอกชั้นนอกเล็กน้อย เพื่อทำให้ตัวกล่องมีความแข็งแรง จะสานให้ผิวของไม้ไผ่อยู่
ด้านในตัวกล่อง เมื่อนำไปใช้ใส่ข้าวเหนียว ข้าวจะไม่เกาะติดกับผิวที่เรียบมัน และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย การสานจะเริ่มจากการใช้เส้นตอกสานขัดลายสองและมีการสานขัดที่เรียกว่า “ใส่ดี” เพื่อให้ลายสานอยู่ในรูปสีเหลี่ยมจัตุรัส ขนาดของกล่องข้าวอยู่ที่จำนวนเส้นตอกที่ใช้สาน ข้อสังเกตกล่องข้าวคอกิ่วจะใช้เส้นตอกเป็นจำนวนเลขคู่ เพื่อให้สามารถรวบเส้นตอกเป็นคู่ในช่วงการสานขึ้นคอกล่องข้าว แต่กล่องข้าวคอเลิงสามารถใช้จำนวนเส้นตอกเป็นเลขคู่หรือคี่ก็ได้ เมื่อสานก้นกล่องข้าวได้ขนาดที่ต้องการ จะเริ่มหักมุมเพื่อยกเส้นตอกสานขึ้นเป็นตัวกล่อง ขั้นตอนนี้จะเรียกว่า “ปก” จากนั้นจะเริ่มการ “ไป่” ให้เป็นตัวกล่องข้าว การไป่ในช่วงนี้นิยมสานลายสอง หรือลายอำ เพื่อเน้นความแน่นของเส้นตอก และมีเทคนิคการกดและดันเส้นตอกให้สนิทกันด้วยเล็บมือ ส่งผลให้เกิดความแข็งแรงของตัวกล่องข้าว เทคนิคนี้เรียกว่า “จ๊ะตอก” เมื่อไป่เป็นรูปทรงจนไปถึง
ส่วนคอ และได้ขนาดตามต้องการเรียบร้อยแล้ว จะเป็นการเก็บปลายเส้นตอกที่เรียกว่า “เม้ม” ขั้นตอนนี้ปลายเส้นตอกจะชี้ออกมาข้างนอก แล้วจะมีการสอดเก็บกลับเข้าไปด้านใน เรียกว่า “ปัก” สุดท้ายใช้มีดตัดส่วนเกินทิ้งไป
การไป่กล่องข้าวใช้นอก มีขั้นตอนเริ่มต้นเหมือนกันตัวกล่องชั้นใน แต่จะเริ่มมีความแตกต่างในขั้นตอนการปก เมื่อสานส่วนก่อได้ขนาดกับตัวกล่องแล้ว จะมีการยึดชั้นนอกและชั้นในด้วยใช้เส้นตอกแทงทะลุ
ส่วนฐานทั้งสองแล้วสอดเป็นห่วงเข้าไปในตัวกล่อง แล้วไปคล้องกับซี่ไม้ไผ่ที่วางพาดไว้บริเวณปากกล่อง และขมวดปมปลายเส้นตอก ก็จะทำให้ส่วนก่อทั้งสองชั้นยึดติดกัน จากนั้นจะฉีกตอกทุกเส้นให้มีเส้นขนาดเล็กๆ จำนวน ๔ เส้น แล้วจึงเริ่มปกเส้นแตกแล้วก็ไป่เป็นลวดลายต่างๆ ตามจิตนาการและความชำนาญของผู้ไป่
เมื่อไป่มาจนถึงส่วนคอกล่อง ก็จะมีการเก็บปลายเส้นตอกโดยสอดเข้าระหว่างเส้นตอกของตัวกล่องชั้นใน จึงทำให้ตัวกล่องทั้งสองชั้นผสานเป็นกล่องเดียวกัน ขั้นตอนสุดท้ายใช้มีดตัดปลายเส้นตอกส่วนเกินออก จึงได้ตัวกล่องข้าวที่เสร็จสมบูรณ์
ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง :
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 22/08/2564
เปิดอ่าน : 789 ครั้ง
การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
4. wirasak khongdoem,
สานกล่องข้าวบ้านไผ่ (กล่องข้าวเมืองมาย).
https://www.lampangculture.com. 2564. แหล่งที่มา : https://www.lampangculture.com/a1-view.php?id=4 ค้นเมื่อ
21 พฤศจิกายน, 2567.
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ป้ายกำกับ (Tag) :