อาชีพ สานกล่องข้าวป่าจ้ำ ๑
ชื่ออาชีพ : สานกล่องข้าวป่าจ้ำ ๑
ชื่อ : พ่อเท้ง วงค์ปาละ
ที่อยู่ : บ้านป่าจ้ำ ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างหัตกรรม
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : ในอดีตการสานกล่องข้าวที่มีชื่อเสียงของเขตอำเภอแม่ทะปรากฏอยู่ ๒ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านป่าจ้ำและบ้านน้ำโจ้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกัน ผู้คนในชุมชนแทบทุกวัยทุกครัวเรือนมีอาชีพสานกล่องข้าวขาย
สู่ท้องตลาด แหล่งส่งสินค้าที่สำคัญคือ จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากกล่องข้าวแล้วยังมีเครื่องจักสานที่ขึ้นชื่อของแหล่งจักสานแห่งนี้ คือ แอ่ว หรือ ครุ เครื่องจักสานคล้ายกระจาดขนาดใหญ่ ใช้สำหรับฟาดข้าวให้เมล็ดหลดออกจากรวง ส่งขายทั่วไปในเขตจังหวัดลำปางและพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมาการฟาดข้าวนิยมฟาดบนผ้าใบพลาสติก ซึ่งมีความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและเก็บรักษา แอ่วจึงถูกลืมเลือนไปจากสังคมการเกษตร ทำให้การสานแอ่วหายสาบสูญไปจากจังหวัดลำปาง
ในอดีตการสานกล่องข้าวสร้างรายได้เป็นอย่างดีแก่ผู้คนในแถบนี้ คนส่วนใหญ่เริ่มหัดสานกล่องข้าวตั้งแต่เข้าสู่วัยรุ่น โดยเริ่มจากการหัดจักเส้นตอก สานฝากล่องข้าว สานตัวกล่องเข้า และสานขัดชั้นนอก ขนาดกล่องข้าวที่สานกันในอดีตมีตั้งแต่ กล่องข้าวขนาดเล็กเพื่อใช้ใส่ข้าวสำหรับการเดินทางไปไร่นา หรือเพื่อใส่ข้าวในชุดสังฆทานถวายพระในโอกาสการทำบุญตามเทศกาลต่างๆ กล่องข้าวขนาดกลาง เป็นกล่องข้าวที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป และกล่องข้าวหลวง เป็นกล่องข้าวที่ใช้ในวัดวาอาราม เนื่องจากการทำบุญใหญ่ตามวัดต่างๆ มักจะมีผู้คนทั่วสารทิศมาร่วมทำบุญ การจัดเตรียมสำหรับกำข้าวจำเป็นต้องอาศัยภาชนะขนาดใหญ่ในการเก็บรักษา เพื่อเลี้ยงดูผู้ที่มาร่วมงานได้อย่างทั่วถึง
สำหรับเอกลักษณ์กล่องข้าวของพ่อเท้งสาน จะเป็นกล่องข้าวที่สานจากไม้ไผ่สีสุก เน้นสานกล่องข้าวขนาดกลางและขนาดใหญ่
วัสดุ/อุปกรณ์ : วัสดุ ตอกซั่ง ตอกเกี้ยว ตอกป้าน ตอกไพ ตอกเปิม ตอกตาล ไม้เนื้อแข็ง

อุปกรณ์ มีด มีเหลา เหล็กหมาด เหล็กจี ไม้ก๊อบ

กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : ๑. กล่องชั้นใน
กล่องข้าวที่พบเห็นจากการศึกษารวบรวมข้อมูลครั้งนี้ ทั้งในพื้นที่อำเภอแม่ทะ อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอเสริมงาม พบว่ามีการสานซ้อนกัน ๒ ชั้น คือ ชั้นในและชั้นนอก สำหรับตัวกล่องชั้นในของบ้านป่าจ้ำจะเรียกว่า “ตัว” หรือ “กล่อง” เริ่มจากการสานฐานของตัวกล่องเป็นลายสอง ใช้ตอกจำนวน ๔๘ เส้น โดยกำหนดให้ลายแผ่กระจายจากจุดศูนย์การอยู่ในลักษณะรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส และมีการขัดลายเพื่อให้เกิดการเรียงลายสานให้ลงตัว เรียกว่า “ดี” หรือ “ใส่ดี” เมื่อสานให้ลายแผ่ออกซ้อนกัน ๓ ชั้น จึงเริ่มขัดมุมเพื่อสานยกเส้นตอกขึ้นให้กลายเป็นตัวกล่องข้าว สานขัดเป็นลายสองเช่นกัน สานให้ได้ ๔ แถว จากนั้นสานขึ้นคอกล่องข้าว โดยการสานรวบเส้นตอก ๒ เส้น ให้กลายเป็นเส้นคู่ ลักษณะการรวบเส้นตอกนี้ทำให้ปากกล่องข้าวบีบสอบเข้ามา กลายเป็นรูปทรงที่สวยงาม จากนั้นสานต่อ ๒ ชั้น จึงสานเก็บขอบปาก และซ่อนปลายเส้นตอกให้เรียบร้อย
๒. สานชั้นนอก
การสานชั้นนอกของกล่องข้าวป่าจ้ำจะเรียกว่า “สานเกี้ยว” เนื่องจากใช้ตอกเกี้ยวสานวนรอบตัวกล่องข้าว เริ่มจากนำตอกซั่ง หรือตอกเส้นยืน จำนวน ๑๖ เส้น โดยแบ่งเป็นตอกเส้นยืน ๘ เส้น เส้นนอน ๘ เส้น
สานขัดกันขึ้น – ลง เป็นลายธรรมดา หรือที่เรียกว่า “ลายตาน” แล้วขยายลายให้ได้ขนาดกับฐานของตัวกล่อง จากนั้นนำตอกป้านมาสอดสลับระหว่างลายสาน เพื่อปิดพื้นที่วางของตอกซั้งจนมิดชิด จากนั้นฉีกแยกตอกซั่งจาก ๑ เส้นให้กลายเป็น ๒ เส้น โดยฉีกแยกเพียงเส้นเดียว เพื่อให้ตอกซั่งมีจำนวนเป็นเลขคี่ ซึ่งส่งผลให้การสานทบรอบมีลายขัดกันที่สวยงาม จากนั้นใช้ตอกเกี้ยวสานขึ้นตัวชั้นนอกในลักษณะการสานสลับขึ้น – ลงไปจนถึงคอกล่องข้าว แล้วใช้ตอกไพจำนวน ๔ เส้น สานเกี้ยวกันไปมา การสานลักษณะนี้เรียกว่า “สานไพ” ขั้นตอนสุดท้ายคือการสานเก็บปลายตอกเส้นยืน หรือตอกซั้ง เริ่มจาการฉีกแบ่งเส้นตอกให้เหลือขนาดเศษ ๑ ส่วน ๓ ใช้มีดตัดส่วนที่ไม่ใช้ออก จากนั้นสานเก็บปลายตอกแล้วตัดปลายตอกส่วนที่เกินออกมาให้เรียบร้อย จึงได้ตัวกล่องข้าวที่สมบูรณ์และแข็งแรง
๓. การสานฝา
ใช้เส้นตอกที่มีลักษณะเดียวกันกับตอกสานตัวกล่องชั้นใน แต่มีลักษณะเล็กกว่าเล็กน้อย ลักษณะ
การสานเหมือนกับการสานตัวกล่องชั้นใน แต่มีเมื่อขัดมุมเพื่อสานลายยกตัวขึ้น จะสานขึ้นมาจำนวน ๕ ชั้น แล้วจึงสานเก็บปลายตอก เมื่อสานเรียบร้อยแล้วจะพับครึ่งส่วนที่สานยกขึ้นให้ซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น โดยพับให้ส่วนปลายที่มีการสานเก็บปลายตอกอยู่ด้านใน การพับซ้อนกันทำให้ตัวฝามีความแข็งแรง ทนต่อการใช้งาน
ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกมือสัมผัสมากที่สุด จากนั้นจะใช้ซี่ไม้ไผ่ หรือที่เรียกว่า “ไม้กระด้าง” ใส่ไขว้ขัดมุมกันด้านบนฝาเพื่อเสริมความแข็งแรง และตกแต่งมุมฝาด้วยเส้นตอกตาล เรียกว่า “ใส่จิก” และ “ใส่หู” เพื่อรอยเชือก ๒ ข้าง
๔. การใส่ฐาน
ฐานกล่องข้าวเรียกว่า “ตีนกล่องข้าว” ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง เลื่อยให้มีความบางประมาณ ๑ – ๑.๒ เซนติเมตร มีความกว้างประมาณ ๕ เซนติเมตร ตัดให้มีความยาวตามเส้นทแยงมุมของฐานกล่องข้าว จำนวน
๒ ชิ้น จากนั้นบากไม้ตรงจุดกึ่งกลางให้สามารถสอดขัดกันเป็นรูปกากบาด ถัดนั้นเจาะปลายไม้ทั้ง ๔ ด้าน
แล้วนำไปผูกติดกับตัวกล่องข้าวด้วยตอกตาลที่สานขัดกันเป็นลายที่สวยงาม ขั้นตอนสุดท้ายคือการร้อยเชือก โดยสอดผ่านหูตัวกล่องและฝา ก็จะได้กล่องข้าวที่เสร็จสมบูรณ์


ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง :
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 22/08/2564
เปิดอ่าน : 470 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง