ชื่ออาชีพ : สานกุบ ๑
ชื่อ : พ่อมูล สมกูล
ที่อยู่ : บ้านห้วยไร่ ต.บ้านเอื้อม อ.เมือง จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างหัตกรรม
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : บ้านห้วยไร่ ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีงานจักสานที่มีความโดดเด่น คือ กุบ หรือ กุบเกิ้ง หรือ งอบ ในภาษาไทยกลาง กุบเป็นเครื่องจักสานที่ใช้สำหรับกันแสงแดดและฝนให้แก่ศีรษะ สานด้วยเส้นตอกขนาดเล็กลายตาแหลว หรือลายเฉลว รูปทรงวงกลมตรงกลางนูนสูงขึ้นด้านข้างลาดเอียงลงมาจนถึงขอบคล้ายลักษณะของดอกเห็ด โดยมีการสานโครงสองชั้นตรงกลางบุด้วยใบไม้เพื่อป้องกันแสงแดดและน้ำฝน ภายในกุบจะมี “หย่อง” ผูกมัดไว้ตรงกลางเพื่อใช้สำหรับสวมครอบศีรษะ ผู้ที่จักสานกุบ คือ พ่อมูล สมกูล อายุ ๗๗ ปี ท่านได้ฝึกฝนการจักสานมาจากพ่อตั้งแต่ครั้งเป็นวัยรุ่น นอกจากการสานกุบแล้วยังมีเครื่องจักสานชนิดอื่นที่ท่านเคยทำมา ได้แก่ ซ้าหวด ซ้าตาห่าง ข้อง ไซ เป็นต้น นอกจากนี้พ่อมูลท่านยังมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ ท่านได้พัฒนางานจักสานเพื่อรองรับการใช้งานด้านอื่นฯ เช่น สานต้นคาสำหรับเสียบเงินผ้าป่า สานพานใส่ดอกไม้ การสารต้นคาได้รับความนิยมทั้งคนในท้องถิ่นและคนต่างถิ่น เนื่องจากมีความสวยงามและทนทานมีอายุการใช้งานได้หลายปี
วัสดุ/อุปกรณ์ : วัสดุ ๑. ตอกสาน ๒. ตอกกลม ๓. ใบตอบตึง หรือใบตองกง หรือผ้าพลาสติกกันฝน ๔. เชือกขนาดเล็ก
อุปกรณ์ ๑. มีด ๒. มีดเหลา ๓. เข็มใหญ่
กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : การสานโครงกุบ
นำเส้นตอก ๕ เส้น มาสานขัดเป็นลายตาแหลว ๕ กลีบ แล้วนำมามัดติดกับโครงแม่พิมพ์ จากนั้นสานต่อให้เป็นลายตาแหลว ๖ กลีบ จนได้ขนาดเท่าแม่พิมพ์ เมื่อได้ขนาดแล้วใช้เส้นตอกสานตรงชายขอบในลักษณะเป็นวงกลม แล้วทำการ “เม้มขอบ” คือการเก็บปลายเส้นตอก โดยการบิดหักปลายเส้นตอกแล้วสานขัดกันให้ปลายเส้นตอกชี้เข้ามาด้านใน การเม้มขอบนี้มีส่วนทำให้ขอบกุบมีความแข็งแรง ซึ่งเป็นส่วนที่ถูกมือสัมผัสมากที่สุด กุบหนึ่งใบต้องใช้โครงกุบ ๒ โครง คือมีชั้นนอกและชั้นใน การสานโครงกุบชั้นนอกจะมีขนาดใหญ่กว่าชั้นในเล็กน้อย เมื่อใส่วัสดุขั้นกลางและเย็บขอบ จะทำให้ขอบกุบมีระนาบที่เสมอกันพอดี
การบุใบตอง
ในอดีตการบุกุบนิยมใช้ใบตองตึง ใบตองกง และใบตองเป้า โดยการเก็บใบตองชนิดที่ต้องการมาเรียงซ้อนกันแล้วนำไม้ หรือก้อนหินที่มีน้ำหนักมากพอสมควรมาทับไว้ด้านบน เพื่อทับให้ใบตองเรียบ และทิ้งไว้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ การบุใบตองเริ่มจากนำโครงกุบชั้นนอกวางหงายขึ้นแล้วนำใบตองประมาณ ๒ – ๓ ใบ บุบริเวณจุดศูนย์กลางก่อน แล้วค่อยบุด้านข้าง เมื่อบุใบตองเรียบร้อยให้นำโครงกุบชั้นในวางทับเข้าไป แล้วยึดด้วยเส้นตอกประมาณ ๕ จุด เพื่อป้องกันไม่ให้ใบตอบขยับออกจากกัน ปัจจุบันมีการใช้ผ้าพลาสติกแทนใบตอง เนื่องจากหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด บุง่าย และไม้ต้องเสียเวลาในการเก็บและทับใบตองให้เรียบ ส่งผลให้ความสวยงามตามเอกลักษณ์ของท้องถิ่นหลุดหายไปจากกุบ
การเย็บขอบ
นำเส้นตอกกลมมาปิดทับรอบต่อระหว่างโครงกุบชั้นนอกและชั้นใน จากนั้นเย็บขอบด้วยเชือกขนาดเล็กที่สอดไว้กับเข็มขนาดใหญ่ รอยเย็บในแต่ละจุดมีความห่างกับประมาณ ๕ เซนติเมตร เมื่อเย็บขอบจนรอบกุบ หากปลายตอกกลมเหลือให้ตัดทิ้งแล้วเย็บเก็บเส้นเชือก ถือได้ว่าตัวกุบที่เสร็จสมบูรณ์
การสานหย่อง
นำเส้นตอกที่มีควาวยาวของไม้ไผ่จำนวน ๒ ปล้อง มาผ่าเป็นเส้นเล็กๆ ทั้ง ๒ ด้าน โดยไม่ให้ทะลุถึงกัน จากนั้นนำเส้นตอกจำนวน ๕ เส้น มาสานขัดกันให้มีลักษณะเป็นรูปครึ่งทรงกลม เพื่อให้สวมรัดกับศีรษะได้ เส้นตอกที่ถูกผ่าเป็นเส้นเล็กจะมีความยึดหยุน ทำให้ผู้สวมใส่ไม่เจ็บหรือเป็นรอยจากการสวมกุบ เมื่อสายหย่องเสร็จแล้วนำไปมัดติดกับกุบบริเวณตรงกลางด้านใน เมื่อมัดติดเรียบร้อยก็จะได้กุบที่เสร็จสมบูรณ์หนึ่งใบ
ปัจจุบันการการสานกุบของบ้านห้วยไร่ยังเป็นที่ต้องการของผู้คนในพื้นที่ เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและมีขนาดใหญ่กว่างอบของภาคกลางสามารถคุมแดดคุมฝนได้มากกว่า ราคาประมาณ ๖๐ – ๑๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของกุบ
ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง :
แหล่งข้อมูล : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม. รายงานเครื่องจักสารนครลำปาง, ลำปาง : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ๒๕๖๓.
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 04/09/2564
เปิดอ่าน : 812 ครั้ง
การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
7. wirasak khongdoem,
สานกุบ ๑.
https://www.lampangculture.com. 2564. แหล่งที่มา : https://www.lampangculture.com/a1-view.php?id=7 ค้นเมื่อ
21 พฤศจิกายน, 2567.
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ป้ายกำกับ (Tag) :