อาชีพ สานกุบ ๒
ชื่ออาชีพ : สานกุบ ๒
ชื่อ : พ่อคำมา สุคำวัง
ที่อยู่ : บ้านลูใต้ ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างหัตกรรม
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : บ้านเสด็จ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีประวัติการก่อตั้งชุมชนโดยอ้างอิงกับตำนานวัดพระธาตุเสด็จ ในอดีตบ้านเสด็จเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่มีวัดเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน ต่อมามีการแยกหมู่บ้านออกเป็นหมู่บ้านเล็กๆ จำนวน ๕ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเสด็จ บ้านลูเหนือ บ้านลูใต้ บ้านวังเลียบ เพื่อง่ายต่อการปกครอง ปัจจุบันบ้านเสด็จตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ด้วยความเก่าแก่ของหมู่บ้านจึงทำให้ปรากฏองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่หลากหลาย “กุบบ้านเสด็จ” ถือได้ว่าเป็นความโดดเด่นทางภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง ลักษณะโดยทั่วไปมีความคลายคลึงกับกุบของพื้นที่อื่นๆ ของล้านนา แต่เอกลักษณ์เฉพาะของบ้านเสด็จคือ การใช้ใบตองก๋งบุเป็นชั้นๆ อย่างละเอียด ประณีต และสวยงาม
วัสดุ/อุปกรณ์ : วัสดุ ๑. ตอกสาน ๒. ตอกกลม/ตอกแบน ๓. ใบตองกง ๔. ผ้าพลาสติกกันฝน ๕. เชือกขนาดเล็ก

อุปกรณ์ ๑. มีด ๒. มีดเหลา ๓. เข็มใหญ่

กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : การสานโครงกุบ
มีลักษณะเหมือนกับการสานกุบของบ้านห้วยไร่ กล่าวคือเริ่มจากการนำเส้นตอก ๕ เส้น มาสานขัดเป็นลายตาแหลว ๕ กลีบ แล้วนำมามัดติดกับโครงแม่พิมพ์ จากนั้นสานต่อให้เป็นลายตาแหลว ๖ กลีบ จนได้ขนาดเท่าแม่พิมพ์ เมื่อได้ขนาดแล้วใช้เส้นตอกสานตรงชายขอบในลักษณะเป็นวงกลม แล้วทำการเม้มขอบ โครงชั้นนอกมีขนาดใหญ่กว่าโครงชั้นในเล็กน้อย

การบุใบตอง
กุบบ้านเสด็จนิยมใช้ใบก๋ง หรือใบตองก๋ง เป็นพืชประเภทหญ้าขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้องสูงประมาณ ๓ เมตร ใบยาวเรียวขนาดยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร กว้าง ๔ เซนติเมตร คล้ายใบไผ่ ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ดอกแตกแขนงเล็กๆ เป็นจำนวนมาก ชาวล้านนานิยมนำมาทำไม้กวาด โดยนำมาเรียงซ้อนกันแล้วนำไม้ หรือก้อนหินที่มีน้ำหนักมากพอสมควรมาทับไว้ด้านบน เพื่อทับให้ใบตองเรียบ และทิ้งไว้ประมาณ ๑ – ๒ อาทิตย์ การบุใบตองเริ่มจากนำโครงกุบชั้นนอกวางหงายขึ้นแล้วนำใบตองประมาณ ๒ – ๓ ใบ บุบริเวณจุดศูนย์กลางก่อน แล้วค่อยบุด้านข้าง เมื่อบุใบตองเรียบร้อยให้นำโครงกุบชั้นในวางทับเข้าไป แล้วยึดด้วยเส้นตอกประมาณ ๔ – ๖ จุด เพื่อป้องกันไม่ให้ใบตองขยับออกจากกัน

การเย็บขอบ
นำเส้นตอกกลมมาปิดทับรอบต่อระหว่างโครงกุบชั้นนอกและชั้นใน จากนั้นเย็บขอบด้วยเชือกขนาดเล็กที่สอดไว้กับเข็มขนาดใหญ่ รอยเย็บในแต่ละจุดมีความห่างกับประมาณ ๕-๗ เซนติเมตร เมื่อเย็บขอบจนรอบกุบก็จะได้ตัวกุบที่เสร็จสมบูรณ์

การสานหย่อง
นำเส้นตอกที่มีควาวยาวของไม้ไผ่จำนวน ๒ ปล้อง มาผ่าเป็นเส้นเล็กๆ ทั้ง ๒ ด้าน โดยไม่ให้ทะลุถึงกัน จากนั้นนำเส้นตอกจำนวน ๕ เส้น มาสานขัดกันให้มีลักษณะเป็นรูปครึ่งทรงกลม เพื่อให้สวมรัดกับศีรษะได้ เส้นตอกที่ถูกผ่าเป็นเส้นเล็กจะมีความยึดหยุน ทำให้ผู้สวมใส่ไม่เจ็บหรือเป็นรอยจากการสวมกุบ เมื่อสายหย่องเสร็จแล้วนำไปมัดติดกับกุบบริเวณตรงกลางด้านใน เมื่อมัดติดเรียบร้อยก็จะได้กุบที่เสร็จสมบูรณ์หนึ่งใบ



ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง :
แหล่งข้อมูล : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม. รายงานเครื่องจักสารนครลำปาง, ลำปาง : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ๒๕๖๓.
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 04/09/2564
เปิดอ่าน : 605 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง