ชื่ออาชีพ : จักสานใบตาล
ชื่อ : ยายแก้ว ตาสิงห์
ที่อยู่ : บ้านช้าง ต.ปงแสนทอง อ.เมือง จ.ลำปาง
ประเภท : ช่างหัตกรรม
ประวัติ/ลักษณะอาชีพ/ผลงาน : เครื่องจักสานใบตาลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในจังหวัดลำปาง คือ เครื่องจักสานใบตาลยายแก้ว หรือคุณยายแก้ว ตาสิงห์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี ๒๕๕๘ ประเภทเครื่องจักสาน (สานใบตาล) จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ องค์การมหาชน คุณยายเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เครื่องจักสานใบตาลบ้านช้าง ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และพัฒนาเครื่องจักสารใบตาลกลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอป ระดับ ๓ ดาว ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้เครื่องจักสานใบตาลบ้านช้าง มีสมาชิกประมาณ ๑๒ คน
จากประสบการณ์การจักสานใบตาลที่ยายแก้วได้เรียนรู้จากบิดา-มารดา และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบสนองการใช้สอยในยุคปัจจุบัน และถ่ายทอดให้แก่สมาชิกในกลุ่ม ตลอดจนถึงนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจที่เข้ามาเรียนรู้ที่บ้านของคุณยาย ซึ่งมักจะเดินทางเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ผลิตภัณฑ์ที่คุณยายและกลุ่มงานจักสานใบตาลผลิตในปัจจุบันได้แก่ กล่องข้าว โคมไฟทุเรียน ตระกร้าทุเรียน ดอกกระเจียว ดอกขิง หมวก กระเป๋ารูปทรงต่างๆ ฯลฯ การจำหน่ายสินค้า ส่วนใหญ่จะมีลูกค้าเข้ามาซื้อ ณ ศูนย์การเรียนรู้เครื่องจักสานใบตาลบ้านช้าง และการออกร้านในงานเทศกาลต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ
วัสดุ/อุปกรณ์ : วัสดุ ใบตาล ก้านตาล ไม้ไผ่ เชือก
อุปกรณ์ มีด กรรไกร
กระบวนการทำงาน/วิธีผลิต : การเตรียมใบตาล
ใบตาลที่นำมาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะใช้ใบตาลแก่และใบตาลอ่อน ซึ่งจะให้สีต่างกัน การตัดและจัดเก็บใบตาลของคุณยายแก้ว มักจะทำในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม เพราะเป็นช่วงที่มีการขึ้นไปตัดลูกตาลอ่อน น้ำตาลสด และปลีตาล ลงมาจากต้น กระบวนการเหล่านี้จะมีการตัดก้านใบลงมาเป็นจำนวนมาก คุณยายและสมาชิกในกลุ่มจะออกเดินทางไปเก็บใบตาลตามที่ต่างๆ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดลำปาง เนื่องจากต้องเก็บสะสมใบตาลไว้เป็นจำนวนมากๆ เพื่อให้มีความเพียงพอกับการผลิตตลอดทั้งปี
เมื่อได้ใบตาลมาจะนำมาตากแดดให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันใบตาลขึ้นรา ซึ่งจะไม่สามารถนำมาใช้งานได้ จากนั้นจะนำมาตัดก้านออกจากใบ แล้วทำการตัดใบลานให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ ใบตาลหนึ่งใบสามารถตัดได้ ๑ – ๔ เส้น ขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์ที่จะสาน ใบตาลทั้งที่ผ่านการตัดแต่งเรียบร้อยแล้วและยังไม่ได้ตัดแต่ง จะถูกเก็บไว้โดยการห่อด้วยกระดาษเพื่อไม่ให้ใบตาลสัมผัสกับแสงสว่าง ป้องกันการเปลี่ยนใบตาลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งจะดูเหมือนใบตาลเก่า สีไม่สวยงาม แต่ถ้าหากเก็บไว้เป็นอย่างดีใบตาลจะมีสีน้ำตาลอมเขียว ดูคล้ายใบตาลที่พึ่งผ่านการเก็บมาใหม่ จากนั้นจะบรรจุลงในถุงพลาสติก เพื่อป้องกันฝุ่น แมลง และความชื้นซึ่งเป็นสาเหตุของเชื้อรา
การสานใบตาล
ใบตาลที่แห้งสนิทจะมีความกรอบ เปราะ แตกหักได้ง่าย ก่อนการสานทุกครั้งจะต้องนำใบตาลไปแช่น้ำ หรือพรมน้ำให้ชุ่ม ใบตาลจะมีความเหนียวนุ่มสามารถสานขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ในขณะสานหากใบตาลมีความแห้งกรอบควรพรมน้ำให้ชุ่มตลอดเวลา หลังจากสานผลิตภัณฑ์เรียงร้อยแล้วต้องผึ่งลมให้แห้งสนิท จึงสามารถเก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้
ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง :
แหล่งข้อมูล : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม. รายงานเครื่องจักสารนครลำปาง, ลำปาง : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ๒๕๖๓.
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 04/09/2564
เปิดอ่าน : 938 ครั้ง
การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
9. wirasak khongdoem,
จักสานใบตาล.
https://www.lampangculture.com. 2564. แหล่งที่มา : https://www.lampangculture.com/a1-view.php?id=9 ค้นเมื่อ
21 พฤศจิกายน, 2567.
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ป้ายกำกับ (Tag) :