งานศิลปะพื้นถิ่น กล่องข้าวเมืองมาย หัตถศิลป์ล้ำค่าจากอ้อมกอดของภูเขา
ชื่อศิลปะพื้นถิ่น : กล่องข้าวเมืองมาย หัตถศิลป์ล้ำค่าจากอ้อมกอดของภูเขา
ที่ตั้ง : บ้านไผ่แพะ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
รูปแบบและที่มา : วิถีชุมชนกล่องข้าวเมืองมาย
"...บ้านข้าบ้านไม้ บ้านไปบ้านสาน บ้านข้าไม้ซาง บ้านสานกล่องข้าว บ้านข้าบ้านแพะ บ้านแล้งบ้านผง บ่าเหมือนบ้านปง ปลูกหยังกะอ้วน…” เป็นบทค่าวจ้อยที่ผู้สูงอายุบ้านไผ่แพะ ขับขานให้ลูกหลานได้รับรู้เรื่องราวในอดีตอีกบทหนึ่งว่าวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนผูกพันกับงานไป่สานกล่องข้าวมาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้งานไป่สานกล่องข้าวก็ยังคงอยู่ในวงจรการดำรงชีวิตของผู้คนกลุ่มหนึ่งในตำบลเมืองมาย ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ก็เป็นกลุ่มผู้สืบทอดอดีตให้คงอยู่คู่กับชุมขนตำบลเมืองมาย จากการศึกษาเบื้องต้นในระยะที่ 1 พบว่าวิถีชีวิตชุมชนกล่องข้าวมีพัฒนาการตามยุคสมัยเป็น 5 ยุค คือ

ยุคเดินเท้า – ล่องแพ เริ่มตั้งแต่ชุมชนดั้งเดิมจนถึง พ.ศ. 2500 ชุมชนมีความยากลำบากในการ ดำเนินชีวิต เพราะเป็นชุมชนที่อยู่ในป่า มีภูเขาโอบล้อมอยู่โดยรอบ การติดต่อกับสังคมภายนอกมีความลำบากต้องอาศัยเส้นทางเดินเท้าลัดเลาะไปตามไหล่เขา ลำห้วย เพื่อติดต่อกับตัวอำเภอแจ้ห่ม และต้องอาศัยลำน้ำแม่ต่ำออกสู่แม่น้ำวัง แล้วล่องแพ เพื่อติดต่อกับตัวเมืองลำปาง สภาพป่าโดยรอบชุมชนเป็นป่าอุดมสมบูรณ์มีไม้ไผ่หลายชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ชาวบ้านจึงได้เรียกขานชุมชนของ คนว่า "บ้านไผ่" แหล่งอาหารและปัจจัยในการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ของผู้คนในยุคนี้จึงอาศัยจากป่า และปลูกข้าวทำนาเป็นอาชีพหลักเหมือนชุมชนทั่วไปของประเทศไทย เพียงแต่แหล่งปลูกข้าวของชุมชนแห่งนี้มีพื้นที่จำกัดอาศัยพื้นที่ราบแคบๆ ระหว่างเชิงเขาริมน้ำแม่ต๋าเป็นนาข้าวและต้องอาศัยพื้นที่ลาดเชิงเขาเป็นไร่ข้าว แต่ผลการผลิตจากการทำนาข้าวและปลูกข้าวไร่ ไม่เคยเพียงพอบริโภคได้ตลอดทั้งปีเลย บางครอบครัวจะพอบริโภคได้เพียง 8-9 เดือน แต่บางครอบครัวบริโภคได้เพียง 6 เดือนข้าวก็หมดยุ้งแล้วดังนั้นในช่วงต่อระหว่างฤดูแล้งกับฤดูทำนาและช่วงรอเก็บเกี่ยวข้าวจึงเป็นช่วงที่ชาวบ้าน ประสบปัญหาขาดแคลนข้าว ช่วงทีขาดข้าวรุนแรงที่สุด คือเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงรอเก็บเกี่ยวข้าว แทบทุกครอบครัวไม่มีข้าวบริโภคต้องแก้ปัญหาด้วยการสานกล่องข้าวแล้วหาบไปแลกข้าวสารที่แจ้ห่มโดยกล่องข้าว 1 กล่องแลกข้าวสารได้ 1 ลิตร ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว คนในชุมชนแห่งนี้จะลงมือสานกล่องข้าวเตรียมไว้รับฤดูกาลขาดแคลนข้าวจะมาเยือน

ยุคทางรถถากไม้ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2501-2510 เป็นยุคที่มีนายทุนในจังหวัดลำปางเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้รอบชุมชนตำบลเมืองมาย พื้นที่รอบ ๆ ชุมชนตำบลเมืองมายมีทางรถลากไม้แต่คนในตำบลเมืองมายก็ยังเดินทางติดต่อกับชุมชนภายนอกลำบากเหมือนยุคเดินเท้า-ล่องแพ เพราะว่าทางรถ ลากไม้ไม่ได้ตัดเข้าชุมชนหมู่บ้านแต่ตัดเข้าสู่ป่า ซึ่งอยู่ห่างไกลหมู่บ้าน คนในชุมชนยังผลิตกล่องข้าวกันอยู่ทุกครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้เทศกาล ต่าง ๆ จะผลิตกันมาก เช่น เทศกาล "ทานก๋วยสลาก" "ยี่เป็ง" "ตั้งธรรมหลวง" จนถึง "ปีใหม่ (สงกรานต์)" เมื่อสานกล่องข้าวได้มากพอแล้วบางคนก็หาบไปแลกข้าวสารที่แจ้ห่ม บางคนก็แลกข้าวสารกับพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้าน ซึ่งไม่ต่างจากยุดเดินเท้า-ล่องแพมากนัก

พอถึง ยุคสร้างเขื่อน - สร้างทางสู่หมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2511-5329 ยุคนี้ชุมชนตำบลเมืองมายได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกิ่วลม เส้นทางติดต่อกับชุมชนภายนอก ทางแม่น้ำวังออกสู่ ทางรถยนต์ที่สบห้วยหลวงถูกตัดขาดทำให้ต้องสร้างทางจากบ้านสบมายเข้าสู่หมู่บ้านไผ่ปง ทางสายนี้ จึงเป็นเส้นทางติดต่อกับชุมชนภายนอกสายแรกที่รถยนต์สามารถเข้าออกหมู่บ้านได้ ยุดนี้คนในตำบลเมืองมายยังคงผลิตกล่องข้าวขายกันทุกครอบครัว คนในหมู่บ้านเป็นพ่อค้าคนกลาง รับซื้อกล่องข้าว ไปขายในเมืองลำปางและจังหวัดใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยใช้รถปิกอัพบรรทุกกล่องข้าวไปขายบ้าง อาศัยรถยนต์โดยสารบ้าง แต่ในปลายยุคนี้ราว พ.ศ. 2528-2329 คนในชุมชนเริ่มผลิตกล่องข้าวกันน้อยลง เพราะว่าสามารถหารายได้จากการปลูกหอม ปลูกกระเทียม และขายของป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในชุมชนเริ่มเกิดกระแสสร้างบ้านไม้สักไว้ขายให้แก่นายทุน จึงทำให้คนประกอบอาชีพสานกล่องข้าวน้อยลง

ยุคทางรถขาว-รถแดง เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2530-2536 ยุคนี้มีขบวนการนายทุนเข้ามาลักลอบตัดไม้สักในป่ารอบ ๆ ชุมชน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มรถขาวและกลุ่มรถแดง "รถขาว" และ "รถแดง" คือ รถปิกอัพสีขาว รถปิกอัพสีแดงสำหรับใช้ขนไม้เถื่อน ดังนั้นในป่าจึงมีทางลำลองสำหรับรถขาว-รถแดงเหล่านี้ เพื่อใช้เป็นเส้นทางหลบเสี่ยงเจ้าหน้าที่ป่าไม้และขนไม้ออก สู่ "ตลาดไม้เถื่อน" ยุคนี้นับเป็นยุค "กล่องข้าวเสื่อมความนิยม" การผลิตกล่องข้าวในชุมชนถึงจุด "ตกต่ำที่สุด" คนในชุมชน เลิกทำกล่องข้าวแล้วหันไปรับข้างนายทุนไม้เถื่อน เพราะว่าได้รับเงินค่าจ้างสูงกว่าการทำกล่องข้าวขาย จึงอาจกล่าวได้ว่ายุคทางรถขาว-รถแดงเป็นยุคที่คนในชุมชน "ละทิ้งอาชีพสานกล่องข้าว" จนทำให้กระบวนการผลิตกล่องข้าวของชุมชนสู่จุดต่ำสุด

ยุคทางโยธา-ทางหลวง เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2537-ปัจจุบัน ยุคนี้เส้นทางการติดต่อระหว่างหมู่บ้าน ในตำบลเมืองมายมีความสะดวกขึ้นเพราะกรมโยธาธิการได้สร้างถนนดินถูกรังเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านไผ่ปงกับบ้านนางาม นอกจากนี้กรมทางหลวงกำลังสร้างถนนลาดยางหมายเลข 1335 ระหว่าง บ้านแลง-เเจ้ห่ม ผ่านบ้านไผ่ปงและบ้านไผ่เพะ เส้นทางนี้ทำให้การคมนาคมระหว่างตำบลเมืองมาย กับอำเภอแจ้ห่มและตำบลเมืองมายกับตัวเมืองลำปางมีความสะดวกขึ้น ทำให้สภาพความเป็นชุมชนกันดารห่างไกลเส้นทางคมนาคมหมดไป

ทุกวันนี้งานไป่สานกล่องข้าวก็ยังคงอยู่ในวงจรการดำรงชีวิตของผู้คนกลุ่มหนึ่งในตำบลเมืองมาย ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็เป็นกลุ่มผู้สืบทอดอดีตให้คงอยู่คู่กับชุมชนตำบลเมืองมาย กลุ่มผู้สืบทอดงานไป่สานกล่องข้าวเหล่านี้ยังคงอาศัยงานไป่สานกล่องข้าวไว้เลี้ยงชีพ แต่วิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนเลย เพราะวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ยังคำรงชีวิตด้วยการทำการเกษตรตามฤดูกาล ที่อาศัยแรงคนและพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้นวงจรการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่จึงหมุนเวียนไปตามฤดูกาล ที่อาศัยแรงคนและพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้นวงจรการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่จึงหมุนเวียนไปตามฤดูกาล หากเริ่มนับจาก "ปีใหม่เมือง" (สงกรานต์ แล้ววงจรการดำรงชีวิตก็จะหมุนไปตามช่วงเวลาของความสัมพันธ์ระหว่างธรรม ชาติกับการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเป็นลำดับดังนี้คือ

พอถึง "เดือนเจ็ดเหนือ" (เมษายน) เป็นช่วงเวลาหยุดพักผ่อนฉลองปีใหม่ (สงกรานต์) เพื่อเตรียมตัวต่อสู้กับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการใช้แรงกายทำมาหากินในปีนี้อีกปีหนึ่ง งานแรกของ ปีคือการ "ฮิบไฮ่" เป็นงานถางไร่เผาไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกข้าวไร่และถั่วลิสงตามไหล่เขาเชิงดอย
"เดือนแปดเดือนเก้าเหนือ" (พฤษภาคม - มิถุนายน) มาถึงก็เริ่มลงมือ "เอาหญ้า - บกดิน" (ดายหญ้า - ขุดสับดิน) เพื่อเตรียมดินแล้วจึง "บกไฮ่ใส่ถั่ว - ใส่ข้าว" ขุดสับดินในไร่หยอดเมล็ดถั่วลิสงและข้าวไร่ให้แล้วเสร็จก่อนจะถึงฤดูทำนาในพื้นราบ

ประมาณ "เดือนสิบเหนือ" (กรกฎาคม) การใส่ถั่ว - ใส่ข้าวไร่ ตามบนดอยก็แล้วเสร็จทุกคน ก็เริ่ม "ลงนา" หว่านกล้า ไถนา เตรียมทำนาปลูกข้าวในท้องนา ซึ่งเป็นพื้นราบแคบ ๆ ริมลำห้วย ระหว่างภูเขา
ประมาณ "เดือนสิบเอ็ดสิบสองเหนือ" (สิงหาคม - กันยายน) ถั่วลิสงที่ปลูกไว้ในไร่บนดอยก็ ถึงอายุพอที่ชาวบ้านจะ "หลกถั่ว - ล้อนถั่ว" (ถอน - เก็บผลผลิตถั่วลิสง) หลังจากเก็บผลผลิตถั่วลิสง ในไร่เสร็จแล้วบางคนก็ "ใส่ถั่ว" ปลูกถั่วลิสงรุ่นที่ 2 ต่อทันที

พอเข้า "เดือนเกี๋ยง เดือนยี่เหนือ" (ตุลาคม - พฤศจิกายน) ข้าวไร่ที่ปลูกไว้บนดอยก็ได้เวลาเก็บเกี่ยว คนที่ปลูกข้าวไร่ก็ลงมือเกี่ยวข้าวไร่ นวดข้าว ขนข้าวใส่ยุ้ง ในช่วงเดือนสิบสองเหนือถึง เดือนเกี๋ยงเหนือนี้ เป็นช่วงเทศกาลประเพณีทานก๋วยสลาก แต่ละหมู่บ้านจะจัดงานทำบุญกันทุกปี ถ้าปีนั้นผลผลิตการเกษตร ไม่เกิดความเสียหายชาวบ้านตำบลเมืองมายก็จะใช้กล่องข้าวเป็นภาชนะบรรจุเครื่องไทยทานแทนก๋วย (ภาชนะจักสานคล้ายชะลอม) ต่อมาการถวายทานในประเพณีทานก๋วยสลากด้วยกล่องข้าวเริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย หลายครอบครัวที่เลิกไป่สานกล่องข้าวขายก็ถือโอกาสนี้ไป่สานกล่องข้าวเพื่อนำไปถวายทานก๋วยสลาก โดยใช้ฝีมือของตัวเองแทนการซื้อจากเพื่อนบ้านหรือพ่อค้า

ประมาณ "เดือนสามเหนือ" (ธันวาคม) ถั่วลิสงรุ่นที่ 2 ที่ปลูกไว้ในไร่บนดอยก็แก่พอจะเก็บผลผลิตได้ คนที่ปลูกถั่วลิสงรุ่นที่ 2 ก็รีบ "หลกถั่ว – ล้อนถั่ว" ก่อนที่ถั่วจะงอกจนเสียหาย ขณะเดียวกันข้าวในนาพื้นราบก็สุกถึงเวลาเกี่ยวข้าวพอดี ผู้ที่ทำนาก็เริ่มพากันเกี่ยวข้าว นวดข้าว เก็บข้าวขึ้นยุ้ง

พอถึง "เดือนสี่เหนือ" (มกราคม) เสร็จจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วชาวบ้านก็ทำบุญ "ทานข้าวใหม่" ตามประเพณี ขณะเดียวกันคนที่มีที่นาก็เริ่มลงมือเตรียมดิน - เตรียมพันธุ์หอม เพื่อ "ปลูกหอม ปลูกกระเทียม" บางคนก็เตรียมดิน - เตรียมพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อ "ปลูกถั่วลิสง" ในที่นาต่อไป หลังจากนั้นก็รอ จนกระทั่งถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตหอมและถั่ว แล้วก็เตรียมเข้าสู่ "ปีใหม่" (สงกรานต์) อีกรอบหนึ่ง

นอกจากจะดำเนินชีวิตหาเลี้ยงชีพตามวงจรแห่งฤดูกาลคั่งกล่าวข้างต้นแล้ว กลุ่มผู้ที่ไป่สานกล่องข้าวยังใช้เวลาว่างจากการทำการเกษตรเข้าป่าตัดไม้ซางมาจักตอก หลืบตอก สานกล่องข้าวขาย เป็นรายได้จุนเจือครอบครัวอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงรอเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรระหว่าง เดือนมกราคมถึงเมษายน จะมีเวลาสานกล่องข้าวมากกว่าช่วงอื่น ๆ

การดำเนินวิถีชีวิตของกลุ่มผู้มีอาชีพสานกล่องข้าวในตำบลเมืองมายจึงวนเวียนอยู่ระหว่างการทำไร่ทำนา และไปสานกล่องข้าว ทุกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล และเป็นความ "พออยู่ - พอกิน" ถ้าหากไม่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไม่มีช่วงใดที่ใครจะว่างงานอยู่ กับบ้านเฉย ๆ "...บ่มีว่างเลย ใส่ข้าวไร่ ใส่ถั่วดินบนไร่ แล้วกะมาปลูกข้าว เกี่ยวข้าว แล้วกะใส่หอม ใส่ถั่วดินในนาแหม เป็นจะนี้ตลอดปี บ่ามีว่าง หมู่ไป่กล่องข้าวกะไปตลอดปีเหมือนกัน แม่วันยะการ แม่ คืนไป่กล่องข้าว แล้วไฮ่แล้วนากะไปกล่องข้าว..." (สมพร จำเดิม, มิถุนายน 2543) (ไม่มีว่างเลย เสร็จ จากปลูกข้าวไร่ ปลูกถั่วลิสงในไร่แล้วก็มาปลูกข้าวนา เกี่ยวข้าวนาเสร็จก็ปลูกหอมปลูกถั่วลิสงอีก เป็นอย่างนี้ตลอดปี ไม่มีว่าง พวกสานกล่องข้าวก็สานตลอดปี กลางวันทำงาน กลางคืนสานกล่องข้าว เสร็จจากไร่จากนาก็สาน กล่องข้าว : ผู้วิจัย) ดังนั้นกลุ่มอาชีพสานกล่องข้าวจึงยังดำรงวิถีชีวิตแบบเดิมไว้ก่อนข้างมาก และมีการฝึกฝนถ่ายทอดทักษะฝีมือความสามารถในด้านจักสานกันภายในครอบครัว

ที่มา : จำลอง คำบุญชู (2543. น. 41-45)
อ้างอิงภาพถ่าย : รูปที่ 2-5 ถ่ายภาพโดยน.ส.เกวลิน วงค์ษา (นักศึกษาในรายวิชาวัฒนธรรมไทย) รูปที่ 1 และรูปที่ 6-10 ถ่ายภาพโดยทีมวิจัยโครงการฯ

วัสดุ : ไม้
เทคนิค : กล่องข้าว คือ ภาชนะจักสานจากไม้ไผ่ ใช้ใส่ข้าวเหนียวนึ่งไว้รับประทานในบ้านในครัวเรือน
กล่องข้าวขนาดธรรมดาที่ใช้ในบ้าน เป็นกล่องข้าวที่มีขนาดปกติธรรมดาทั่วไปที่ใช้กันในบ้านพอเหมาะกับการใส่ข้าวเหนียวนึ่งสำหรับไว้รับประทานภายในหนึ่งวันทั้งมื้อเช้า มื้อกลางวัน และมือเย็น โดยให้เพียงพอกับสมาชิกทุกคนในบ้าน ดังนั้นผู้ผลิตจะกะขนาดกล่องข้าวจากปริมาณ ข้าวเหนียวนึ่งว่าจะใช้ใส่ข้าวเหนียวกี่ลิตร โดยมากจะมีขนาดบรรจุข้าว 1 ลิตรถึง 1 ลิตรครึ่ง บางครอบครัวมีสมาชิกมากก็มีขนาด 2 ลิตร
กล่องข้าวขาว คือกล่องข้าวที่สานหรือ“ไป่” ด้วยตอกที่ไม่ย้อมสีใดๆ สีของกล่องข้าวจึงเป็นสีของผิวไม้ไผ่ ซึ่งเมื่อแห้งสนิทแล้วจะมีสีขาวนวล
กล่องข้าวคอกิ่ว คือ กล่องข้าวที่มีรูปทรงส่วนฐานล่างหรือส่วนก้นมีมุมสี่มุม ส่วนตัวกล่องข้าวเป็นรูปทรงกระบอก แต่ส่วนคอนั้นคอดกิ่วเล็กกว่าส่วนตัวกล่องข้าว
กล่องข้าวคอเลิง คือกล่องข้าวที่มีรูปทรงส่วนฐานล่างหรือส่วนก้นมีมุมสี่มุม ส่วนตัวกล่องข้าวจนถึงส่วนคอเป็นรูปทรงกระบอกและส่วนคอนั้นสูงขึ้นจากส่วนตัวกล่องข้าวเป็นแนวตรง ทําให้ส่วนคอกับส่วนตัวมีขนาดเท่ากัน
กล่องข้าวน้อย เป็นกล่องข้าวขนาดเล็กสำหรับใส่ข้าวเหนียวรับประทานเพียงคนเดียว โดยมากมักทําขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ใช้ให้เด็กเล่น หรือแม่ค้าใช้ใส่เหรียญสตางค์ ในปัจจุบันพบว่ากล่องข้าวน้อยบางกล่องมีขนาดเล็กมากจนมือล้วงเข้าไปข้างในไม่ได้จนไม่เหมาะที่จะใส่ข้าวเหนียว กล่องข้าวน้อยแบบนี้ ปัจจุบันเป็นที่นิยมสําหรับใช้เป็นของฝากของที่ระลึก และมีราคาแพงกว่ากล่องข้าว ขนาดธรรมดาแต่ก็มีคนผลิตได้ดีไม่กี่ราย เนื่องจากกล่องข้าวขนาดเล็กทํายากกว่ากล่องข้าวธรรมดาที่ใช้ในบ้านมาก
กล่องข้าวลาย คือกล่องข้าวที่สานหรือ “ไป่” ด้วยตอกที่ย้อมสี โดยตอกที่ใช้สานแต่ละเส้นจะย้อมสีดำครึ่งเส้นและอีกครึ่งหนึ่งนั้นไม่ย้อมสีใด ๆ ดังนั้นเมื่อสานหรือไปให้เป็นรูปทรง กล่องข้าว แล้วจะเกิดเป็นสีดำสลับขาว หรือเป็นลายเป็นดอกสีขาวดำ
กล่องข้าวหลวง เป็นกล่องข้าวที่มีขนาดใหญ่ โดยทั่วไปมีขนาดสูงประมาณ 20 นิ้วขึ้นไป ปากกว้างประมาณ 10 นิ้ว กล่องข้าวขนาดนี้ในสมัยก่อนนิยมใช้ในงานวัด จะพบเห็นมากตามงานบุญหรืองานปอยเช่นในงานฉลองสมโภชวัดที่มีคนมาชมนมกันมากเมื่อมีการเลี้ยงอาหารเลี้ยงข้าวชาวบ้านจะใช้กล่องข้าวหลวงบรรจุข้าวเหนียวนึ่งไว้เลี้ยงคนที่มาร่วมงาน ซึ่งวัดบางแห่งอาจมีใช้กันอยู่แต่ในปัจจุบันโดยมากจะพบเห็นกล่องข้าวหลวงตามงานแสดงและงานเลี้ยงอาหารแบบขันโตกต่างๆ ที่นิยมเอากล่องข้าวหลวงและขันโตกมาเข้าขบวนแห่ให้ผู้คนในงานชม
การก่อ คือการก่อรูปกล่องข้าวเป็นการเริ่มต้นการไป ชาวบ้านเรียกว่า “ก่อ” เทคนิคที่ใช้ ในการก่อคือ จะต้องนับจํานวนเส้นตอกว่าจะใช้กี่เส้นกี่คู่ ถ้าทํากล่องข้าวคอกิ่วจะกำหนดแน่นอนตายตัวว่าต้องใช้ตอก เป็นจํานวนคู่เช่น 5 คู่ ถ้าเป็นจํานวนที่จะไม่สามารถทําส่วนคอให้คอดกิ่วตามที่ต้องการได้ แต่ถ้าเป็นการทํากล่องข้าวคอเลิง จะใช้ตอกในการก่อกี่คู่กี่เส้นก็แล้วแต่ว่าต้องการได้ กล่องข้าวขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ โดยมากจะใช้ตอกก่อจํานวน 8 คู่ ในการก่อนี้พบว่าจะขัดเส้นตอกด้วย “ลายสองและลายเอ็ด” ให้ส่วนข้อไม้อยู่ตรงกึ่งกลาง
การไป่ คือการสานนั่นเอง แต่ตามภาษาที่ชาวบ้านตําบลเมืองมายใช้กันนั้นคําว่า “ไป่” กับ คําว่า “สาน” มีความหมายต่างกันคือ ถ้าสานสิ่งของที่มีลักษณะเป็นแผ่นเป็นผืนบาง เช่น เสื้อ พัด ชาวบ้านที่นี่จะใช้คำว่า “สาน” แต่ถ้าสานทําให้เป็นรูปทรง เช่น กล่องข้าวจะใช้คําว่า “ไป่”
การหลืบตอก คือการใช้มีดชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “มีดเหลา” ลอกดึงเอาเนื้อไม้ซางออกทิ้ง โดยจะ “หลืบ” ออกทีละชั้นๆ ประมาณ 3-4 ชั้น จนให้เหลือแต่ส่วนผิวของไม้ ขั้นนี้ถือว่าเป็นตอกแล้วตอกผิวไม้ที่ “หลืบ” ได้จากไม้ปล้องเดียวกันหรือจากไม้ซีกเดียวกันจะถูก “มัด” รวมไว้ด้วยกัน มัดละประมาณ 6 เส้น และคลี่ให้ตอกแผ่กางออกพอไม่ให้ตอกทับซ้อนกันมากเกินไปแล้วนําไป “ตากแดด” โดยมากมักจะวางเรียงไว้บนแผ่นไม้กระดานบ้างตามขอนไม้บ้างหรือแขวนตามราว ตากผ้าบ้าง และตากแดดประมาณ 2 วัน เมื่อตอกแห้งแล้วก็สามารถนําไปสานส่วนตัวกล่องข้าวชั้นในได้และใช้สานตัวกล่องข้าวชั้นนอกของ “กล่องข้าวขาว” ได้ต่อไป แต่ถ้าต้องการทําส่วนตัว กล่องข้าวชั้นนอกของ “กล่องข้าวลาย” นั้น จะต้องนําตอกไปขูดผิวและย้อมสีก่อน การย้อมสีตอกในอดีตนั้นชาวบ้านต้องไปหาเก็บผลของต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “เม็ดบ่าจี้” (ผลคนทา) และเปลือกต้นไม้ คือ “เปลือกอีลางหรืออะลาง” และ “เปลือกบ่านะ” (เปลือกสมอ) มาทุบแล้วใส่หม้อต้มจนเปื่อยเละ จากนั้นก็นําตอกมาต้มในหม้อน้ำย้อมจนได้ที่แล้วก็นําตอกที่ย้อม แล้วไปหมักโคลนที่ท่าน้ำนาน 1 คืน เพื่อให้สีของตอกดำสนิทเกาะติดผิวตอกยิ่งขึ้น คนเฒ่kคนแก่พูดถึงวิธีย้อมอย่างนี้ว่า “ยะยาก ต้องใช้เวลา ถ้ายะบ่าจับกะแดง กะหมาด สีเส้า ตะก่อนกล่อง ข้าวลายบ่าใช่ยะกันนัก มันยากย้อนย้อมเนียะ” (ทํายากต้องใช้เวลานานถ้าทําไม่ถูกตอกก็จะดำๆ ค่างๆ ออกสีแดงคล้ำ สีหมอง สีหม่น แต่ก่อนนี้กล่องข้าวลายนี้ทํากันไม่มากนัก เพราะมันยุ่งยาก ในการย้อมตอก : ผู้วิจัย)
จ๊ะตอก คือการใช้เล็บมือกดดันเส้นตอกแต่ละเส้นให้ชิดติดกันแน่นสนิท ถ้าทําได้แน่นได้แข็งมีรูปทรงดี เวลาสานชั้นนอกหุ้มอีกชั้นหนึ่งนั้นชั้นนอกก็จะดีจะสวยตามไปด้วย จากลําดับการทําส่วนชั้นในดังกล่าวนั้นพบว่า คนที่ต้องใช้เทคนิควิธีให้ได้ชั้นในที่แน่นที่แข็งแรง
จักกีบ คือ การนําไม้ไผ่ที่ถูกผ่าครึ่งแล้ว มาผ่าซอยให้เป็นชิ้นๆ (กีบ, กลีบ) เท่าๆ กัน
จักเติ้ง คือการผ่าเอาส่วนเนื้อไม้ทิ้งไปให้เหลือแต่ส่วนที่อยู่ติดผิวไม้ จากนั้นก็มัดรวมกัน แล้วหาบกลับมาที่บ้าน
ดอก เป็นลวดลายที่เกิดจากการสานเส้นตอกให้เป็นรูปร่างต่างๆ เช่น “ดอกก๋ำบี้” (รูปแมลงปอ) “ดอกจันแปดกลีบ” “ดอกเบี้ยว” “ดอกเบี้ย” เป็นต้นลวดลายลักษณะ “ดอก” ของกล่องข้าวตําบลเมืองมายจากการศึกษาปรากฏจํานวนตามชื่อเรียกของชาวบ้านมีทั้งสิ้น 12 ลวดลาย ได้แก่
1.) ดอกจัน หรือ ดอกจันแปดกลีบ
2.) ดอกหลวง
3.) ดอกคำโป้ง
4.) ดอกกาบจุม หรือคอกลายกาบจุม
5.) ดอกเบี้ย หรือ ดอกหยิบกลาง
6.) ดอกก๋ำบี้ หรือ ดอกก๋ำบี้ไล่
7.) ดอกเกี้ยว หรือ ดอกเคี้ยวห้า
8.) ดอกเกี้ยวเจ็ค
9.) ดอกเกี้ยวเก้า
10.) ดอกหย่อม หรือ ดอกเกี้ยยวหย่อม
11.) ดอกขะแจ๋ (ดอกกุญแจ) หรือดอกกากบาท
12.) ดอกเกี้ยวพันเสาหรือดอกงูขึ้นเก๊าไม้
เติ้ง คือส่วนของเนื้อไม้ไผ่ที่ไม่สามารถใช้เป็นตอกได้ ต้องใช้มีดจักส่วนนี้ทิ้งไป
โบะ คือ การใช้มีดอีโต้ผ่าไม้ซางแบ่งให้เป็นซีกให้ได้ขนาดเท่าๆ กัน
ปก คือ การนําตอกมาก่อและขัดกันจนได้ขนาดพื้นที่ส่วนก้นตามที่ต้องการแล้ว และเริ่มต้นหักมุมตอกให้ตั้งฉากขึ้น การปกจะขัดเส้นตอกด้วยลายสาม
ปัก คือ การสอดเส้นตอกเข้าไปด้านใน
ปาด คือ การใช้มีดตัดปลายตอกที่ยาวเกินออกไป
เม้ม คือ การพับตอกออกมาด้านนอก
ไม้ซางผิวนวลงาม เป็นคุณสมบัติของไม้ซางที่ดีเพราะการผลิตกล่องข้าวในตําบลเมืองมาย เป็นการผลิตโดยใช้ผิวไม้ หรือใช้ส่วนผิวไม้มาทําตอกดังนั้นจึงจําเป็นต้องคัดเลือกเอาไม้ที่ผิวสวย เพื่อจะได้กล่องข้าวที่สวยงามยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทํากล่องข้าวขาว ซึ่งไม่มีการย้อมสีตอกยิ่งต้องคัดเลือกไม้ซางที่มีผิวสวยงามมาทําตอก
ไม้หนุ่ม คือไม้ที่ยังอ่อนพอดีเป็นไม้ซางที่มีอายุระหว่าง 6-12 เดือน ชาวบ้านมักเรียกไม้อายุขนาดนี้ว่า “ไม้ใหม่” บ้าง “ไม้ปีนี้” บ้าง “ไม้ลูก” บ้าง ข้อดีของไม้ซางอายุขนาดนี้คือ มีคุณสมบัติเหนียวนุ่ม ไม่เปราะ ไม่หักง่าย เมื่อแห้งสนิทแล้วมีสีขาวนวล
ลาย เป็นลวดลายที่เกิดจากการสานเส้นตอกข้ามกันไปมาด้วยจังหวะหรือจํานวนเส้นตอก แตกต่างกันไป เช่น “ลายสอง” “ลายสาม” “ลายอํา” เป็นต้น
ส่วนลวดลายลักษณะ “ลาย” ของกล่องข้าวตําบลเมืองมายจากการศึกษาปรากฏจํานวน ตามชื่อเรียกของชาวบ้านมีทั้งสิ้น 9 ลาย ดังรูปประกอบที่ 19 - 27 ได้แก่
1.) ลายเอ็ดหรือลายหนึ่ง
2.) ลายสองยืน หรือ ลายสองตั้ง
3.) ลายสองนอนหรือลายสองขวาง
4.) ลายสามยืน หรือ ลายสามตั้ง
5.) ลายสามนอนหรือลายสามขวาง
6.) ลายอํายืน หรือ ลายอําตั้ง
7.) ลายอํานอนหรือลายอําขวาง
8.) ลายเสา หรือ ลายเสาตั้ง
9.) ลายตกกาบ
แอ็บข้าว คือ ภาชนะจักสานจากไม้ไผ่ใช้ใส่ข้าวเหนียวนึ่งไว้รับประทานเมื่อไปทําไร่ ทํานา หรือทำงานอื่น ๆ และจําเป็นต้องห่อข้าวไปด้วย ชาวบ้านจะนิยมใช้แอ็บข้าว

ที่มา : จำลอง คำบุญชู (2543. น. 324-327)


ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง : -
สภาพปัจจุบัน : กล่องข้าวเมืองมายเป็นสินค้า OTOP ของตำบลเมืองมาย อ.แจ้ซ้อน จ.ลำปาง
แหล่งข้อมูล : จำลอง คำบุญชู. (2543). กล่องข้าวตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง : บทบาทและความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชนในการอนุรักษ์ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตกล่องข้าว. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ผู้บันทึก : Panuwat Sakulsueb
วันที่บันทึก : 18/08/2564
เปิดอ่าน : 1,064 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2568 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง