ชื่อ : กลุ่มทอผ้าบ้านน้ำหลง อำเภอสบปราบ
แหล่งค้นพบ : บ้านน้ำหลง หมู่ 2 ต.สมัย อ.สบปราบ จ.ลำปาง
กลุ่มชาติพันธุ์ : ไทยวน
ประเภท : ซิ่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน ผ้ารองแก้ว ผ้าพันคอ กระเป๋าสะพาย ย่าม ปลอกหมอน ผ้าถุง เสื้อพื้นเมือง(ย้อมสีธรรมชาติ) ผ้าคลุมไหล่
หน้าที่/โอกาส : สวมใส่
วัตถุดิบในการทอ : ฝ้าย ฝ้ายไหมประดิษฐ์ และผสมด้วยไหมดิ้น
ประวัติ/คำอธิบาย : เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2543 กลุ่มแม่บ้านมีความคิดริเริ่มในการพัฒนาอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวหลังจากการทำนาเพราะสมาชิกมีพื้นฐาน ความชำนานในการทอผ้าอยู่บ้างแล้ว โดยเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มด้วยกันมีสมาชิกรวมกัน 11 คน ว่าจ้างให้วิทยากรจากอำเภออื่นมาช่วยสอนทอผ้าตีนจกและผ้าพื้น โดยใช้เงินทุนของตัวเอง สมาชิกในกลุ่มสามารถทอผ้าดีขึ้น และนำจำหน่ายได้ในท้องถิ่น ต่อมาได้มีการทอผ้าพื้นไหมประดิษฐ์ขึ้นมาเสริม โดยมีสมาชิกเข้าใหม่อีก 19 คน รวมสมาชิกของกลุ่ม 30 คน และมีการพัฒนาทอผ้ามาเรื่อย ๆ โดยการเปลี่ยนจากการทอผ้าด้วยกี่โบราณมาเป็นการทอผ้าด้วยกี่กระตุก และเปลี่ยนจากการทอผ้าด้วยเส้นไหมประดิษฐ์มาเป็นการทอผ้าพื้นเมืองโดยการย้อมสีธรรมชาติ เมื่อสตรีในหมู่บ้าน ได้รวมตัวกันพัฒนาอาชีพด้านการทอผ้าด้วยไหมประดิษฐ์ ทอเป็นผ้าสีพื้น ผ้าซิ่น และผ้าตีนจก ส่งขายและรับทอผ้าตามสั่งจากผู้สนใจรวมทั้งได้ออกร่วมจำหน่ายในกิจกรรมเทศกาลต่าง ๆ
ปี พ.ศ. 2546 ได้เริ่มส่งผลิตภัณฑ์เข้าร่วมคัดสรรระดับอำเภอและจังหวัด หลังจากนั้นได้พัฒนาฝีมือตนเอง โดยไปศึกษาดูงานกลุ่มอาชีพทอผ้าดีเด่นของจังหวัด ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองปานและได้ปรับปรุง พัฒนาฝีมือการทอพื้นเมืองเพิ่มเติม ได้จัดหากี่กระตุกและกี่พื้นเมืองเพิ่ม และได้จ้างวิทยากรจากอำเภอเมืองปาน มาให้ความรู้เพิ่มเติมในด้านการทอผ้าฝ้ายลายต่างๆ และการย้อมสีธรรมชาติ
ปี พ.ศ. 2547 ได้ส่งผลิตภัณฑ์ เข้าร่วมคัดสรร ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับภาค และได้รับคัดสรร 3 ดาว ระดับประเทศ และได้รับการคัดสรรจากพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง จนมีระดับ 4 ดาว และกลายเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน
วัตถุดิบและวิธีการย้อมสี : 1. หาเส้นฝ้าย นำมาแช่น้ำ 1 คืน เพื่อให้เส้นฝ้ายอิ่มตัว
2. หาวัสดุที่จะใช้ย้อม เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ นำมาต้มน้ำประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการ
3. นำฝ้ายที่แช่น้ำเสร็จแล้วนำมาต้มด้วยผงซักฟอก เพื่อไล่ไขมัน และนำมาซักให้สะอาด
4. นำเปลือกไม้ใบไม้ที่ต้มไว้ออกจากน้ำ ใส่ส่วนผสม เช่น เกลือ สารส้ม น้ำด่าง
5. เอาผ้าฝ้ายที่ซักลงในน้ำที่เตรียมไว้
6. ตั้งไฟประมาณ 2 ชั่วโมง นำฝ้ายลงไปต้ม(พลิกฝ้ายทุก ๆ 10-20 นาที)
7. น้ำฝ้ายที่ย้อมแล้วนำมาแขวนตากไว้ในที่ร่ม ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน
8. นำฝ้ายที่แขวนตากไว้ มาซักให้สะอาด แล้วแยกเส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นยืนนำมานวดเข้ากับแป้ง
เทคนิควิธีการทอ : 1. นำฝ้ายยืน เอามาปั่นเข้าหลอดสำหรับวน ต้องเอามาเรียงออกแบบลวดลาย นำเส้นฝ้ายมาเข้าจัดเรียงเส้นฝ้าย และเอาเข้ากี่ และก็เรียงเส้นฝ้ายเพื่อใส่ตระกรอเรียงตามลำดับก่อนหลัง
2. จัดเรียงเส้นฝ้ายเข้าฟืน เสร็จแล้วเริ่มทอ ออกแบบลวดลายใช้เส้นพุ่ง โดยการเอาเส้นฝ้ายสำหรับพุ่ง นำมาเข้าหลอดสำหรับใส่กระสวย และสลับสีตามต้องการ
การตกแต่ง : การทอด้วยฝ้ายไหมประดิษฐ์ และผสมด้วยไหมดิ้น
ลวดลาย : ผ้าซิ่นลายพื้นเมือง ผ้าซิ่นลายน้ำไหล และได้คิดออกแบบลวดลายใหม่ ๆ ขึ้นมาเอง
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : Kamonwan Tawan
วันที่บันทึก : 26/07/2564
เปิดอ่าน : 713 ครั้ง
การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
1. Kamonwan Tawan,
กลุ่มทอผ้าบ้านน้ำหลง อำเภอสบปราบ.
https://www.lampangculture.com. 2564. แหล่งที่มา : https://www.lampangculture.com/a12-view.php?id=1 ค้นเมื่อ
21 พฤศจิกายน, 2567.