ชื่อ : กลุ่มทอผ้าฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติ ศูนย์การเรียนรู้ “ตูบแก้วมา” อำเภอเสริมงาม
แหล่งค้นพบ : บ้านนาเดา ต.เสริมซ้าย อ.เสริมงาม จ.ลำปาง
กลุ่มชาติพันธุ์ : ไทยวน
ประเภท : ซิ่น ผ้าขนหนู ผ้าเข็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า และผ้าคลุมไหล่
หน้าที่/โอกาส : ผ้าสำหรับนุ่งห่ม
วัตถุดิบในการทอ : ฝ้าย
ประวัติ/คำอธิบาย : นางจันทร์คำ แก้วมา ผู้นำกลุ่มผ้าฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติ บ้านนาเดา กล่าวว่า กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือบ้านนาเดาได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นเมื่อปี 2526 ในช่วงนั้นเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อหารายได้เสริมในการเลี้ยงชีพ ซึ่งโดยลำพังการทำไร่นาไม่สามารถสร้างรายได้อย่างเพียงพอ โดยในระยะแรกการทำงานของกลุ่มไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเมื่อปี 2536 ทางอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางได้เข้ามาสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และลวดลายให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมีการออกแบบลายผ้า “สร้อยดอกหมาก” “ลายดอกพริกไทย” ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม หลังจากนั้นจึงเริ่มมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น จนปี 2545 ทางกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือบ้านนาเดาได้เข้าร่วมในโครงการ “ฝ้ายแกมไหม” โดยนายธนศักดิ์ เมฆขจร เป็นผู้ประสานงานและให้คำปรึกษาในการบริหารจัดการ จนสามารถพัฒนามาเป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตเส้นใยครบวงจร ใช้ชื่อว่า “ตูบแก้วมา”
ตูบแก้วมา แหล่งเรียนรู้ในกระบวนการผลิตเส้นใยธรรมชาติแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่กระบวนการปลูกฝ้าย ประกอบด้วยการปลูกฝ้ายพื้นเมือง พันธุ์แก่นแป พันธุ์ขี้แมว พันธุ์น้อยและพันธุ์ตุ่น โดยมีการปลูกไว้ในบริเวณบ้านและแยกปลูกในแปลง โดยผู้สนใจสามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้ได้อย่างง่าย ๆ ตั้งแต่รูปร่างของต้นฝ้ายแต่ละชนิด การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก จนถึงเทคนิคการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเส้นใยครบวงจรบ้านนาเดามีจุดเด่นอยู่ที่การบริหารจัดการที่เริ่มต้นจากฐานของครอบครัวและขยายความร่วมมือไปยังสมาชิกในชุมชนใกล้เคียงจนเกิดเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ใช้ภูมิปัญญาและทักษะต่าง ๆ ในการทอผ้า
วัตถุดิบและวิธีการย้อมสี : 1. กระบวนการปั่นเส้นด้าย
- เก็บดอกฝ้าย
- ทำการคัดสิ่งแปลกปลอมออกเช่น ใบไม้ กิ่งไม้ เศษหินดินทราย เป็นต้น
- รีดเมล็ด
- ทำการตีฟู (ขั้นตอนนี้สำคัญ หากเราตีใยฝ้ายไม่แตกดีจะทำให้เส้นฝ้ายที่ได้ไม่สวยงามและได้เส้นฝ้ายน้อย)
- ทำการปั่นด้วยเครื่องปั่นมือแบบโบราณ และเครื่องเอ็มซี
2. กระบวนการย้อมสีเส้นด้าย แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ย้อมเย็น และย้อมร้อน
ก่อนการย้อมทุกครั้งเราต้องทำความสะอาดเส้นฝ้าย เพื่อขจัดสิ่งสกปรก และขจัดไขมันในเส้นฝ้ายออกก่อนทุกครั้งโดยการแช่ไว้ในน้ำสะอาด 1 คืนและต้มในน้ำร้อนอีกครั้งจากนั้นจึงนำไปตาก วิธีนี้เรียกว่า ต้มฟอก
2.1 ย้อมเย็น คือ การย้อมแบบไม่ใช้ความร้อนในการสกัดสี เช่น ย้อมคราม เป็นต้น
- นำเส้นฝ้ายที่ทำความสะอาดแล้วมาจุ่มลงไปในน้ำสีที่เราเตรียมไว้
- ขยำให้สีซึมเข้าเนื้อเส้นฝ้ายให้เท่ากัน
- บิดผ้าให้แห้งแล้วนำไปตากผึ่งไว้ให้แห้ง(หากต้องการได้สีเข้มก็นำกลับมาย้อมอีก)
หมายเหตุ สีครามได้มาจากกระบวนการหมักต้นครามเป็นเวลานาน จนได้น้ำครามที่เหมาะสมพร้อมสำหรับการย้อมในระหว่างกระบวนการหมักนั้น ต้องมีการเพิ่มอากาศให้กับน้ำหมักด้วยโดยการใช้ตะกร้อสานตีหรือซวก จนกระทั่งเกิดฟองมากที่สุดเพราะเราเชื่อว่าน้ำครามนั้นมีชีวิตต้องการอากาศในการดำเนินชีวิตเหมือนกัน
2.2 ย้อมร้อน คือ การย้อมโดยใช้ความร้อนในการสกัดสี นิยมใช้กับการสกัดสีจากเปลือกไม้ ใบไม้
- นำเปลือกไม้ที่เราเตรียมไว้มาต้มให้เดือด ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง (อัตราส่วน น้ำ 1: เปลือกไม้ 1)
- ตักเปลือกไม้ทิ้งไป ให้เหลือไว้เฉพาะส่วนของน้ำ
- นำเส้นฝ้ายที่ทำความสะอาดแล้วมาย้อม โดยน้ำที่เหลืออยู่ต้องท่วมเส้นฝ้าย ต้มทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง
- จากนั้นบิดให้สะเด็ดน้ำและนำไปตากให้แห้ง
เทคนิควิธีการทอ : กระบวนการทอผ้า คือกระบวนการสุดท้ายของการผลิตผ้าเมตร ที่ต้องใช้ความละเอียด ความใส่ใจ เพราะเนื้อผ้าจะสวยหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเส้นฝ้าย และสี เพียงเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ผู้ทอด้วย หากผู้ทอไม่ใส่ใจ ทอแน่นบ้าง บางบ้าง เนื้อผ้าที่ได้ก็จะไม่สม่ำเสมอและไม่สวยงาม
- นำเส้นฝ้ายที่ได้จากการย้อมมาปั่นใส่หลอด ขึ้นมวน หรือ ขึ้นรูม
- สอดเขาและฟืม
- ทำการมัด และทอ
- ขั้นตอนสุดท้ายคือตรวจเช็คความเรียบร้อยก่อนส่งให้กับลูกค้า
การตกแต่ง : การย้อมสี
ลวดลาย : ผ้าลายสร้อยดอกหมาก ลายดอกพิกุล ลายดอกพริกไทย ลายไส้หมู
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : Kamonwan Tawan
วันที่บันทึก : 26/07/2564
เปิดอ่าน : 658 ครั้ง
การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
3. Kamonwan Tawan,
กลุ่มทอผ้าฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติ ศูนย์การเรียนรู้ “ตูบแก้วมา” อำเภอเสริมงาม.
https://www.lampangculture.com. 2564. แหล่งที่มา : https://www.lampangculture.com/a12-view.php?id=3 ค้นเมื่อ
28 มกราคม, 2568.
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ป้ายกำกับ (Tag) :