กวีและขับขาน อ.ศักดิ์(สักเสริญ) รัตนชัย ปราชญ์ชาวลำปางผู้ให้กำเนิดเพลง "ร่ำเปิงลำปาง"
ชื่อ-นามสกุล : อ.ศักดิ์(สักเสริญ) รัตนชัย ปราชญ์ชาวลำปางผู้ให้กำเนิดเพลง "ร่ำเปิงลำปาง"
เบอร์ติดต่อ : -
ที่อยู่ : 363 ถนนทิพย์ช้าง ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง
ประวัติกวีและผู้ขับขาน (ย่อ) : อาจารย์ศักดิ์ สักเสริญ รัตนชัย ปัจจุบันอายุ 93 ปี (พ.ศ.2564) เป็นผู้มีคุณูประการต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ในระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง หรือลำปางศึกษาเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผลงานการสร้างสรรค์คีตการของท่านก็มีจำนวนไม่น้อย แต่ที่สำคัญและเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ เพลง "ร่ำเปิงลำปาง" ที่กล่าวกันว่าเป็น "เพลงชาติ" ของจังหวัดลำปางก็ว่าได้ โดยเนื้อหาของเพลงนอกจากจะสรรถ้อยคำไว้อย่างงดงามแล้วยังสะท้อนประเพณีและวิถีชีวิตในอดีตของชาวลำปางไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วย ดังนี้

ยง ยง ยง ต๋าวันส่อง ลำแสงแจ้งแล้ว หันใส ดังแก้ว ตี้ปล๋ายธาตุเจ้า ลำปางหลวง
ยกมือไหว้สา ตึงบุปผา ดอกดวง เมื่อเหมย ยัวยวง ก็ลั้วะหลิ่งใบ ลงดิน
นัน นัน นัน เสียงนันเดือดซื้อขายกาดเจ๊า เปี้ยดซ้า ของข้าว ตึงก๋วยแต๋งเต้า บุงจิ๊น
แถมครัว ผักสวน ป้าวต๋าลตังมวล กล้วยส้มหมากปิน สัตว์น้ำ สัตว์ดิน ตึงแมงตี้บิน ไปมา
เสียงล้อ เสียงเกวี๋ยนงัวต่าง ตึงเสียงผ่างลาง ฮอกเด็งตี้เตียว ตึงเสียง คนเอ็กคนเอี๋ยว ไปซื่อ ไปเลี้ยว นั่งจ๊างต่างม้า
ครัวแพะ ครัวป่า ครัวปง ครัวโต้ง ครัวโฮง ตี้แป๋งแต่งดา ปี๋ใหม่ เข้าออกวสา และป๋าเวณี ยี่เป็ง
ป๊ะ ป๊ะ ป๊ะ หอกล๋องพระ ตี๋ป๊ะ ตึ่ง ตึง สะล้อ ซอ ซึง จุมกล๋องถึดทึง ติ้ด ตึ่ง โหน่ง เหน้ง
หนัวเจิงก็ฟ้อนกั๋น ผีไผผีมัน ผีมดซอนเม็ง ง่อมใจ๋ฮ่ำเพลง ก็กึ๊ดร่ำเปิง ลำปาง

สำหรับที่มาของเพลงนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2510 กล่าวคือ ท่านอ.ศักดิ์ได้ไปเรียนทฤษฎีดนตรีระดับสูงกับ หลักสูตร TCM กับ อาจารย์กำธร สนิทวงศ์ และ นท.อารี สุขะเกศ ได้ให้การบ้านเรียบเรียงเพลงแนวสำเนียงโหมดดนตรีภาษาเหนือ คือ”ร่ำเปิงลำปาง”ต่อมา นท.อารี สุขะเกศ ก็สามารถนำไปสร้างเพลงแนวโอเวอร์เจอร์เทียบ In a Pesian Market ในวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตดนตรี Royal University ที่ลอนดอน ศักดิ์ ส.เริ่มแต่งเพลงร่ำเปิงลำปาง ตั้งแต่ พ.ศ.2510 ใช้บรรเลงร่วมวงหัสดนตรีดย.มทบ.7 โดย ร.ท.ทวนศักดิ์ รัตนชัย หน.ดย.มทบ.7 เป็นหัวหน้าวง ในงานกุศลเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง พ.ศ.2514 เป็นครั้งแรก ต่อมา หลัง อาจารย์ นท.อารี สุขะเกศ กลับจากการศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ได้นำร่ำเปิงลำปางบรรเลงในโรงละครแห่งชาติ เก็บเงินสมทบทุนมูลนิธิฝน แสงสิงแก้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2522 ขับร้องโดย จ.อ.ญ.ประภาส ศรีคำภา และการแสดงเทิดพระเกียรติวันแม่แห่งชาติ 12 ส.ค.2523 ทางสถานีโทรทัศน์ ต่อมา ต่อมา พ.ศ.2523 นท.อารี นำคณะบรรเลงในภาคเหนือ ได้มอบซานด์บรรเลงดนตรีให้ ใน พ.ศ.2530 น.ส.กฤษฎากร ดวงรินทร์ได้นำเสียงบรรเลง”ร่ำเปิงลำปาง”แข่งขันได้ตำแหน่งนักร้องเพลงภาษาคำเมืองชนะเลิศภาคเหนือ จัดประกวดโดยสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย และได้แพร่ผลงาน ออกรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง 8 ต่อมาในปีงานหลวงเวียงละกอน ครั้งที่ 5 ทางจังหวัดลำปาง ร่วมกรมศิลปากร ได้จัดแสดงงานแสงเสียงเรื่อง “ร่ำเปิงลำปาง” โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชทานทรงเปิด ณ เวทีวัดพระ แก้วดอนเต้า เมื่อ 3-4 ก.พ.2532 และการแสดงภาคกลางแจ้งเปิดงานระบำหมู่ในสนามกีฬา

นอกจากนี้เพลงร่ำเปิงลำปาง ยังมีโอกาสได้บรรเลงร่วมกับวงออรเคสตร้าซิมโฟนีอีก 3 ครั้ง ได้แก่
1. ร่ำเปิงลำปาง บรรเลงโดย วงดุริยางค์ทหารอากาศ เวอร์ชั่น 1 อำนวยการโดย น.ท.อารี สุขะเกศ ในปี พ.ศ.2522 ณ โรงละครแห่งชาติ
2. ร่ำเปิงลำปาง เวอรชั่นที่ 2 อำนวยการโดย น.ท.อารี สุขะเกศ ในปี พ.ศ.2544 บรรเลงโดยวงดุริยางค์ออร์เคสตร้าบางกอกซิมโฟนี ในงานมหัศจรรย์ก๋องปู่จาสมาคมชาวเหนือ
3. ร่ำเปิงลำปาง บรรเลงโดยวงดนตรีกองทัพเรือ ในงานเฉลิมฉลองมหกรรมต่างๆ ในการเปิดการแข่งขันกีฬาไก่ขาว เกมส์ พ.ศ.2549

ที่มา :
1. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผศ.ปราการ ใจดี เกี่ยวกับที่มาและข้อมูลผลงานเพลงของ อ.ศักดิ์ รัตนชัย รวมถึงภาพประกอบที่ 1-5
2. ข้อมูลประวัติและผลงานของอ.ศักดิ์ รัตนชัย จากเว็บไซต์สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏลำปาง เข้าถึงได้จาก http://www.culture.lpru.ac.th/Web_culture/index.php?modules=history&file=aj_sak
ผลงาน : สำหรับผลงานของอ.ศักดิ์ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ มีอยู่ด้วยกันใน 3 ลักษณะ ดังนี้

1. ผลงานชุดเพลงสิทธิบัตร ได้แก่
เพลงร่ำเปิงลำปาง บทร้อง - ทำนอง ศักดิ์ ส. รัตนชัย ผู้ขับร้อง กฤษฎากร ดวงรินทร์ แยกเสียงประสาน นท.อารี สุขะเกศ หัวหน้าดุริยางค์ทหารอากาศ
เพลงหมาขนคำ ทำนองเพลงเก่า ลำปางหลวง บทร้องและสคอร์ บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ผู้ขับร้อง รำพรรณ์ อินแก้ว
เพลงวังมะนาว เค้าทำนองแม่แล้ลำปาง บทร้องและสคอร์ บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้อง รำพรรณ์ อินแก้ว
เพลงเตียงดง เค้าทำนองเตียวดง บทร้องและสคอร์ บรรเลงประกอบเสียงไวโอลิน ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้อง รำพรรณ์ อินแก้ว
เพลงเหลี้ยมเติง ๆ บทร้องทำนองและสคอร์ บรรเลง ท่ารำ ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย บำรุง จันทรประเสริฐ อดีตโฆษณก และพระเอกละครเรื่องเวียงตาล TV8
เพลงเวียงละกอน บทร้องทำนองและสคอร์ บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้อง กฤษฎากร ดวงรินทร์ ( น้องนาย)
เพลงหาดลาวา บทพระราชนิพนธ์ ร.6 บทร้องทำนองและสคอร์ บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย ยุทธภูมิ วงศ์นิรันดร์
เพลงโป่งข่ามงามเด่น บทร้องทำนองและซาวน์ดนตรี และสีไวโอลินโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย ยุทธภูมิ วงศ์นิรันดร์ ( เล็ก) แห่งรายการศิลปินหรรษา
เพลงชีวิตนักข่าว บทร้องทำนอง ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้อง ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา นักร้องแผ่นเสียงทองคำ วงดนตรีบรรเลงโดย ไพบูลย์ ศุภวารี นายกสมาคมดนตรี แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
เพลงสิทธิครั้งเดียว บทร้องทำนองและสคอร์ บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้อง ยุทธภูมิ วงศ์นิรันดร์
เพลงกระเป๋าของฉัน - สวนอักษร บทร้องทำนอง สคอร์โซนาตินา บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย เสียงขับร้อง โดยเด็กหมู่ศนย์อบรมเด็กลำปาง
เพลงสอนพุทธประวัติ บทร้องทำนอง สคอร์โซนาตินา บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย สิวพร สิงหานนท์ ศิลปินหรรษา สมาคมดนตรีนครลำปาง
เพลงอาสาฬหบูชา บทร้องทำนอง สคอร์โซนาตินา บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย สิวพร สิงหานนท์ ศิลปินหรรษา สมาคมดนตรีนครลำปาง
เพลงเทียนธรรมะ บทร้องทำนอง สคอร์โซนาตินา บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย สิวพร สิงหานนท์ ศิลปินหรรษา สมาคมดนตรีนครลำปาง
เพลงหนี้กรรมเก่า บทร้องทำนอง สคอร์โซนาตินา บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย วัชราภร วโรดม รายการศิลปินหรรษา TV8
เพลงค่าล้ำน้ำใจคน บทร้องทำนอง สคอร์โซนาตินา บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย สิวพร สิงหานนท์ ศิลปินหรรษา สมาคมดนตรีนครลำปาง
เพลงธาตุเจ้าซาวสาม บทร้องทำนอง สคอร์โซนาตินา บรรเลง สีไวโอลิน โดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย สิวพร สิงหานนท์ ศิลปินหรรษา สมาคมดนตรีนครลำปาง
เพลงป๋าเวณีแบบเบ้า บทร้องทำนอง สคอร์โซนาตินา บรรเลง สีไวโอลิน โดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย กฤษฎากร ดวงรินทร์ ( น้องนาย) ศิลปินหรรษา สมาคมดนตรีนครลำปาง
เพลงดับเดือน บทร้องทำนอง สคอร์โซนาตินา บรรเลง สีไวโอลิน โดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้องโดย สิวพร สิงหานนท์ ศิลปินหรรษา สมาคมดนตรีนครลำปาง
เพลงเทศกาลพรรษา บทร้องทำนอง สคอร์โซนาตินา บรรเลงโดย ศักดิ์ ส. รัตนชัย ขับร้อง รำพรรณ อิ่นแก้ว

2. ผลงานชุดเพลงบันเทิงสาธารณะ
คือ บทเพลงที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรเพื่อผลทางการตลาดพาณิชยกิจ แต่เป็นเพลงที่สมาคมเพื่อการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรม ( สรสว.) ลำปาง สภาวัฒนธรรมและสำนักวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้เผยแพร่สู่สถานศึกษาและสาธารณะ ผลงานเพลงลักษณะนี้ได้แก่ บทร้อง - ทำนอง ศักดิ์ ส. รัตนชัย ผู้ขับร้องบรรเลงโดย วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นบทเพลง เผยแพร่เป็นประจำ สนองนโยบายสำนักวัฒนธรรมแห่งชาติ เผยแพร่คุณธรรมพระดำริ 9 ประการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นรายการเผยแพร่ประจำในรายการเสมาพัฒนา FM 97 MHz สวท.ลำปาง และมีโอกาศแพร่ในขบวนเทิดพระเกียรติสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชนทั่วประเทศ ปีกาญจนาภิเษก ในเทปและ CD เพลงชุด เสมาพัฒนาคุณธรรมพระดำรัส สืบสานเพลงธรรมะ ฉบับ ศักดิ์ รัตนชัย รวม 35 เพลง

3. เพลงประกอบท่ารำ ชุดระบำต่างๆ ประกอบด้วย
เพลงประกอบตำราเรียนอักขระ
เพลงประกอบนิทานตำนานประวัติศาสตร์
เพลงประกอบการเรียนการสอนอักขระนิ้วมือ
เพลงประกอบการเรียนการสอนโน๊ตนิ้วมือ
เพลงประกอบบทเรียน เครื่องบรรเลงดนตรีชนิดต่างๆ
เพลงประกอบบทเรียนวิชาคอรัส
เพลงประกอบการเรียนการสอน ฝึกสร้างแต่ง MOTIF เพลง
เพลงร้อยเรียงทำนองเก่าสู่ความสมบูรณ์
เพลงเบ็ดเตล็ดการละครนับแต่เพลงเชิด เพลงดำเนินเรื่อง และศิลปะต่อสู้

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2506 ท่านยังได้สร้างบท ROLEPLAY ประกอบเพลงธรรมะชุดพรหมวิหาร 4 ในงานเผยแพร่จริยธรรมในสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ณ คุรุสภา และตามโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพฯ อีกด้วย โดยผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาในพระศาสนา เป็นผลงานที่ใช้เทคนิคท่าร่ายรำประกอบกับการแสดงละคร เพื่อต้องการสื่อความหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านพระธรรมให้เข้าใจง่ายขึ้น / ละครเวที เรื่องแก้วตาแม่ สำหรับนักเรียนเป็นทั้งบทละครสำหรับแสดงบนเวที และบทละครวิทยุ ในจังหวัดลำปาง / บทละครประกอบการ์ตูน ชุดแก้วตาแม่ / เทคนิคของโน๊ตนิ้วมือ (FINGER MUSIC NOTE) เป็นกลวิธีสอนเด็กและผู้เริ่มต้นเรียนดนตรีให้รู้จักพื้นฐานการอ่านโน๊ตดนตรีสากลโดยใช้เพียงมือเปล่าของตนเท่านั้น ได้มีโอกาสทำการแสดงชุดนี้ไปสาธิตทั้งในประเทศและนอกประเทศ มีการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ และมีการตีพิมพ์ในหนังสือสำคัญ เพลงที่นำมาประกอบสาธิต คือ เพลงพระราชนิพนธ์ "พรปีใหม่" / คิดค้นการเรียนการสอนอักขระไทยคำเมือง ด้วยกลวิธีการละเล่นอักขริกะนิ้วมือได้แรงบันดาลใจมาจากการทีใคร่จะให้เยาวชนผู้เป็นนักเรียนคำเมืองเกิดความสนุกสนานเกิดความนิยมในวัฒนธรรมท้องถิ่นและทำให้เยาวชนศึกษาวัฒนธรรมได้ง่ายไม่เบื่อหน่าย โดยมุ่งหวังว่าเมื่อเกิดใจรักด้านนี้แล้ว ย่อมมีใจรักในศิลปะพื้นเมืองแขนงอื่่น ด้วยเทคนิคเพลงประกอบการเรียนเป็นเนื้อหาเคล็ดวิชาที่ทำให้เกิดการเรียนรวดเร็วขึ้นโดยการละเล่น
รูปแบบ : กวีผู้แต่ง
หมวด : เพลง
ระบำ/ทำนอง :
ปีที่สร้าง : 2510
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : Panuwat Sakulsueb
วันที่บันทึก : 19/08/2564
เปิดอ่าน : 634 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง