กวีและขับขาน พระยาพรหมโวหาร (พรหมมินท์) ... รัตนกวีของแผ่นดินล้านนา
ชื่อ-นามสกุล : พระยาพรหมโวหาร (พรหมมินท์) ... รัตนกวีของแผ่นดินล้านนา
เบอร์ติดต่อ : -
ที่อยู่ : ตรอกตรงข้ามวัดดำรงธรรม (วัดไทยใต้) ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง
ประวัติกวีและผู้ขับขาน (ย่อ) : พระยาพรหมโวหาร มีชื่อเดิมว่า “พรหมมินท์” เกิดเมื่อปีเต่าเส็ด จ.ศ.1164 เป็นบุตรของเจ้าแสนเมืองมา (เชื้อเจ้าเจ็ดตน) ผู้รักษากุญแจคลังหลวงของเจ้าหลวงวรญาณรังสีฯ มารดาชื่อ เพง (เป็ง หรือ จันท์เพ็ง-จั๋นเป็ง) เกิดที่จังหวัดลำปาง น้องชายชื่อ บุญยง มีบ้านอยู่ในตรอกตรงกันข้ามวัดไทยใต้ดำรงธรรม อ.เมือง จ.ลำปาง ในวัยเด็กได้บวชเรียนในสำนักวัดสิงห์ชัย พระอาจารย์ชื่อ อุปนันโทเถระ เมื่อบวชเป็นภิกษุได้ 3 พรรษาแล้ว พระอุปนันโทเถระก็นำไปฝากในสำนักของพระอาจารย์ปินตา (ครูบาปินตา) วัดสุกขมิ้น ซึ่งอยู่ติดกับวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่

พระภิกษุพรหมมินท์ได้ศึกษาเล่าเรียนที่วัดสุกขมิ้น เป็นเวลา 2 - 3 ปี ก็ลากลับมาอยู่ที่ลำปาง และได้ลาสิกขาบทเมื่ออายุประมาณ 25 – 26 ปี ก่อนที่จะลาสิกขาบทนั้น ท่านได้แต่งค่าวใคร่สิกข์ ไว้ด้วย แต่หาต้นฉบับไม่พบ แต่มีผู้จำได้ท่อนหนึ่ง ความว่า “ทุพระใคร่สิกข์ หันนมสาวสวด ขะโยมใคร่บวช หนมต้มสาวทาน” เมื่อสึกแล้วท่านก็ได้รับจ้างเขียนคำร้องที่ศาลาลูกขุนและรับจ้างแต่งค่าวใช้สำหรับหนุ่มสาวใช้แทนจดหมายรักส่งถึงกันอย่างเพลงยาวของทางภาคกลาง

ในยุคนั้นมีกวีที่มีชื่อเสียงโด่งดังคือพระยาโลมวิสัย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในราชสำนักลำปาง พระยาโลมวิสัยนี้เป็นสหายกับเจ้าแสนเมืองมาบิดาของพรหมมินท์ เมื่อเจ้าแสนเมืองมาเห็นว่าบุตรชายของตนมีลักษณะเป็นกวี จึงนำหนานพรหมมินท์ผู้บุตรไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กของเจ้าหลวงวรญาณรังสีฯ เจ้าหลวงเมืองลำปางก็โปรดให้พรหมมินท์ไปฝึกงานในแผนกอาลักษณ์กับพระยาโลกวิสัย

ครั้งหนึ่ง พระยาโลมวิสัยแต่งค่าวหงส์ผาคำขึ้น และได้นำขึ้นถวาย เจ้าหลวงลำปางโปรดให้ตรวจชำระอีกครั้งหนึ่ง และ
โปรดให้พรหมมินท์เข้าร่วมตรวจชำระด้วย ในระยะนี้พรหมมินท์ได้เริ่มแสดงความเป็นปฏิภาณกวีของตน โดยกราบทูลและกล่าวโต้ตอบหน้าพระที่นั่งด้วยกะโลงและค่าวก้อม ซึ่งเจ้าหลวงวรญาณรังสีฯโปรดมาก จึงแต่งตั้งให้พรหมมินท์เป็นพระยาพรหมโวหาร กวีประจำราชสำนักของเจ้าหลวงวรญาณรังสีฯ เจ้าผู้ครองนครลำปาง พระยาพรหมโวหารจึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้น

พระยาพรหมโวหาร สมรสกับ เจ้าสุนา ณ ลำปาง กล่าวกันว่า พระยาพรหมโวหารมีภรรยาถึง 42 คน คนสุดท้ายชื่อ บัวจม นอกจากความสามารถทางด้านกวีแล้ว พระยาพรหมโวหารยังมีความรู้ ในศาสตร์อื่น ๆ อีกเช่น ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และคชศาสตร์ ซึ่งในด้านคชศาสตร์นี้เอง พระยาพรหมโวหารได้แต่งค่าวแสดงคุณลักษณะต่าง ๆ ของช้าง ได้แก่ ค่าวพรรณนางาช้าง ค่าวช้างหลับหรือคำกล่อมขวัญช้าง ค่าวช้างขึด โดยค่าวช้างขึดนี้มีที่มาจาก เมื่อครั้งที่มีคนช้างมากราบทูลเจ้าหลวงวรญาณรังสีฯ ว่ามีช้างงามต้องลักษณะตัวหนึ่งที่เมืองแพร่ โดยเจ้าของจะขายเพียง 2,000 ท็อก (เงินล้านนาสมัยก่อน) เจ้าหลวงวรญาณรังสีฯ จึงมอบเงินให้แก่พระยาพรหมโวหาร เพื่อไปดูช้างและซื้อกลับมา
หากช้างนั้นต้องลักษณะจริง เมื่อพระยาพรหมโวหารออกเดินทางและแวะพักที่บ้านป่าแมต ก็หมดเงินจำนวนนี้ไปกับการพนัน ด้วยเกรงความผิดจึงแต่งค่าวช้างขึด เพื่อส่งไปถวาย ทำให้เจ้าหลวงวรญาณรังสีฯ กริ้ว และทรงประกาศิตว่า “หากไอ้พรหมมาละกอน (ลำปาง) วันใด หัวปุดวันนั้น” ด้วยเหตุนี้เองพระยาพรหมโวหารจึงต้องอยู่เมืองแพร่และได้พบกับนางบัวจม
ณ ที่นี้ พระยาพรหมโวหารก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดจากการตัดสินประหารชีวิตและได้หลบหนีไปอยู่เมืองลับแลกับนางบัวจม ทั้งคู่ได้ค้าขายเลี้ยงชีพอยู่ด้วยกัน ต่อมาภายหลังนางบัวจมหนีกลับแพร่ พระยาพรหมโวหารจึงแต่งค่าวฮ่ำนางจม ซึ่งถือเป็นอมตะกวีที่มีคุณค่าแห่งล้านนาอีกชิ้นหนึ่ง พระยาพรหมโวหารระหกระเหินไปรับราชการที่เชียงใหม่กับเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เมื่อ พ.ศ.2404 ช่วงสุดท้ายของชีวิตได้แต่งงานใหม่อีกครั้งหนึ่งกับเจ้าบัวจันทร์ เมื่ออายุ 60 ปี และถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 85 ปี พ.ศ.2430

ที่มาข้อมูล : อรทัย ใจซื่อ. (2557). รายงานการวิจัย การศึกษาคำศัพท์ภาษาถิ่นล้านนาที่ปรากฏในวรรณกรรมค่าวซอของพระยาพรหมโวหาร. ลำปาง : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.
ที่มารูปประกอบ : เชียงใหม่นิวส์ เข้าถึงจาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1627360/
ผลงาน : - คร่าวใคร่สิกข์ (ไม่พบต้นฉบับ)
- คร่าวช้างขึด (ไม่พบต้นฉบับทั้งเรื่อง)
- คร่าวร่ำช้างงายาว (ไม่พบต้นฉบับ)
- คร่าวสี่บท (คร่าวร่ำนางชม)
- คำจ่มพญาพรหม (โวหารพญาพรหม)
- คร่าวปู่สอนหลาน
- คร่าวซอหงส์หิน (ไม่พบต้นฉบับ)
- คร่าวสัพพะคำสอน (ไม่พบต้นฉบับ)
- เจ้าสุวัตรนางบัวคำ
- มหาพนตำรายา (เวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาพน ฉบับตำรายา)
- คร่าวซอพระอภัยมณีแลสรีสุวัณ (แต่งจบความที่อภิเษกศรีสุวรรณกับนางเกษราเท่านั้น)
- คร่าวรับเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
ด้วยผลงานอันโดดเด่นนี้เอง ทำให้นักปราชญ์ชาวล้านนาในยุคต่อๆมา ยกย่องให้ท่านเป็นรัตนกวีแห่งดินแดนล้านนา และเพื่อเป็นการระลึกถึงพระยาพรหมโวหารในฐานะกวีเอกชาวลำปาง จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของท่านขึ้นที่บริเวณเขื่อนยาง ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง และมีการจัดงานบวงสรวงพญาพรหมโวหารในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
รูปแบบ : กวีผู้แต่ง
หมวด : ค่าว
ระบำ/ทำนอง :
ปีที่สร้าง :
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : Panuwat Sakulsueb
วันที่บันทึก : 24/08/2564
เปิดอ่าน : 919 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง