กวีและขับขาน แม่บุญทอง เป็นวงค์
ชื่อ-นามสกุล : แม่บุญทอง เป็นวงค์
เบอร์ติดต่อ : 0849747505
ที่อยู่ : บ้านหนองกอก ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
ประวัติกวีและผู้ขับขาน (ย่อ) : แม่บุญทอง เป็นวงค์ เริ่มหัดซอตั้งแต่อายุ ๘ ปี โดยการแอบฟังที่พ่อครูทองอินทร์มาสอนให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านหนองกอก พ่อครูทองอินทร์นั้นพื้นเพเป็นคนแม่ขะจานแล้วมาแต่งงานอยู่กินอยู่ที่บ้านสบลี ขณะนั้นในหมู่บ้านหนองกอกได้ว่าจ้างให้พ่อครูทองอินทร์มาสอนการขับซอให้แก่เด็กๆ ในหมู่บ้าน ในตอนนั้นแม่บุญทองไม่ได้เรียนโดยตรง และฝึกขับซอตามแผ่นเสียงที่พ่อของแม่ครูซื้อมาเปิดฟังเป็นประจำ จึงเริ่มซอเจ้าสุวัต-นางบัวคำ ซอไก่น้อยดาววี โดยซอเล่นขณะไปทำไร่ทำสวน คุณพ่อจึงส่งเสริมให้ไปเรียนขับซอกับพ่อครูทองอินทร์ แต่ด้วยความอายไม่กล้าแสดงออก จึงไปไม่ได้เรียนแบบจริงจัง แล้วได้ยกขันดอกไม้พร้อมเทียน ๙ คู่ ขอเป็นลูกศิษย์พ่อครูทองอินทร์ แต่จำบทซอของพ่อครูได้ ๕ บท แล้วเริ่มฝึกแล้วได้เริ่มออกรับงานตอนอายุ ๑๒ ปี โดยไปกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นลูกศิษย์พ่อครูทองอินทร์ทั้งหมด สมัยนั้นการเชิญพ่อครูมาสอนขับซอรวมทั้งสอนเป่าปี่จุม ได้ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน ๓๐๐ บาท โดยพ่อครูจะหักจากค่าจ้างรับงานซอครั้งละ ๑๐ – ๑๕ บาท จนครบจำนวน การออกงานแต่ละครั้งได้รับค่าจ้างประมาณ ๕๐ – ๑๕๐ บาท ต่องาน สมัยนั้นนิยมใช้ปี่จุมสี่ยังไม่นิยมใช้ซึงเข้าร่วมวง และด้วยครอบครัวเป็นศิลปินคุณพ่อเป็นพระเอกลิเกเมือง คุณแม่เป็นผู้ชื่นชอบแต่งคร่าว จึงได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้ศิลปะการขับซออย่างเต็มที่

หลังจากนั้นแม่บุญทองได้ออกรับงาน โดยออกงานร่วมกับช่างซอรุ่นใหญ่อาทิ พ่อครูสีมา สันข้าวแคบ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อครูศรีทวน อำเภอแม่จัน พ่อน้อยจุ๋มปี๋ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นต้น ต่อมาภายหลังได้รู้จักคุ้นเคยกับพ่อครูจันทร์ตา เลาคำ จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ขอตัวเป็นลูกศิษย์และได้ยกขันครูซอกับพ่อครูจันทร์ตา เลาคำ ขณะนั้นแม่บุญทองอายุประมาณ ๓๐ กว่าปี การรับงานซอในยุคนั้นอาศัยการเดินทางด้วยเท้าเพื่อไปติดต่องานและออกไปแสดง ไม่ว่าจะเป็นงานซอในเขตจังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ต้องเดินเท้าออกจากบ้านไปค้างแรมตามบ้านคนรู้จักบนเส้นทางเดินนั้น โดยเดินทางกันไปเป็นหมู่คณะ บางครั้งต้องเดินทางใช้ระยะเวลาถึง ๕ วัน กว่าจะถึงหมู่บ้านที่จัดงาน ต่อมาเมื่อระบบไปรษณีย์ครอบคลุมและทั่วถึง ก็จะติดต่องานระหว่างช่างซอกับช่างซอด้วยการส่งจดหมายเพื่อจองตัวและนัดหมายวันเวลาในการเดินทางไปแสดงการขับซอ แต่ก็ยังอาศัยการเดินเท้า ต่อมาภายหลังความนิยมฟังซอเริ่มลดลง ส่งผลให้งานแสดงซอเริ่มน้อยลง แม่บุญทองจึงวางมือการขับซออยู่บ้านทำไร่ทำสวนดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายตามวิถีชีวิตชาวบ้านหนองกอก
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ แม่บุญทองได้รับเลี้ยงเด็กภายในหมู่บ้าน และเลี้ยงหลานของตนเอง ทุกครั้งที่เด็กๆ เข้านอน แม่บุญทองจะซอกล่อมเด็กๆ ให้หลับง่าย จึงทำให้เด็กเหล่านั้นมีความชื่่นชอบและสนใจที่จะเรียนการขับซอ แม่บุญทองจึงเริ่มสอนกลุ่มเด็กๆ เหล่านั้น จนสามารถจัดตั้งคณะซอสายทอง ออกรับงานแสดงจนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง ปัจจุบันแม่บุญทองมีอาการป่วยเป็นโรคปราสาทหูดับและมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น บางครั้งไม่ได้ยินแม้กระทั้งเสียงรถที่วิ่งผ่านหน้าบ้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่งของช่างซอ นอกจากจะฟังเสียงของคู่ช่างซอเพื่อขับซอตอบโต้กันแล้ว ยังต้องฟังเสียงปี่ที่ให้จังหวะและท่วงทำนองเพลง ภายหลังแม่บุญทองจึงรับงานโดยให้ลูกศิษย์ขับซอเป็นหลัก แม่ครูจะซอเปิดผามและปิดผามให้ โดยอาศัยการมองนิ้วมือช่างปี่ก้อยเพื่อให้การขับซอเข้าทำนองกับจังหวะของปี่จุม ถือว่าเป็นพรสวรรค์ที่พิเศษของแม่บุญทองที่มีความเป็นเลิศในการขับซอ จนเป็นที่ยอมรับและเคารพนับถือของช่างซอจังหวัดลำปาง

ผลงาน :
รูปแบบ : ผู้ขับขาน
หมวด : บทซอ
ระบำ/ทำนอง : ทำนอง ซอตั้งเชียงใหม่ จะปุ ละม้าย เงี้ยว อื่อ ล่องน่าน พม่า เสเลมา จ้อยเชียงแสน
ปีที่สร้าง :
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : wirasak khongdoem
วันที่บันทึก : 03/09/2564
เปิดอ่าน : 821 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง