ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ งานบุญแห่สลุงหลวงนครลำปาง
ชื่อประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ : งานบุญแห่สลุงหลวงนครลำปาง
สถานที่จัด : เทศบาลนครลำปาง ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง
ประเภท : ประเพณี
เดือน : เมษายน
ช่วงเวลา : 12 เมษายน ของทุกปี
คำอธิบายอื่นๆ : ลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการจัดกิจกรรมในวันสงกรานต์ที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว กล่าวคือ นอกจากจะจัดกิจกรรมในระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย. เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือแล้ว เทศบาลนครลำปางยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเนื่องในวันสงกรานต์ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยประเพณีสงกรานต์ของจังหวัดลำปางจะใช้ชื่อในการประชาสัมพันธ์งานว่า “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมือง นครลำปาง” และกิจกรรมที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดกิจกรรมหนึ่งคือ การแห่สลุงหลวง ในวันที่ 12 เมษายน ซึ่งในขบวนแห่จะมีเทพบุตรสลุงหลวงเป็นผู้รับ “น้ำขมิ้นส้มป่อย” จากประชาชนที่รอส่งน้ำตามรายทางด้วยหวังว่าจะได้ร่วมสรงน้ำ “พระเจ้าแก้วดอนเต้า” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปางในประเพณีสงกรานต์นี้ด้วย นอกจากนี้ในวันที่ 13 เมษายน จะมีการจัดขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดลำปาง เช่น พระแสนแซ่ทองคำ, พระเจ้าไม้แก่นจันทร์ ฯลฯ ตลอดจนการประกวดขบวนแห่นักษัตรประจำปีซึ่งจะมีเทพธิดาสลุงหลวงร่วมอยู่ในขบวนแห่นี้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่ได้รับตำแหน่ง “เทพบุตร-เทพธิดาสลุงหลวง” ทั้ง 2 คน จะต้องผ่านการประกวดและคัดเลือกในวันที่ 11 เมษายนเสียก่อน ซึ่งกิจกรรมการประกวดนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับประเพณีสงกรานต์ของจังหวัดลำปางโดยเฉพาะ กล่าวคือ โดยทั่วไปแล้วการประกวดเนื่องในวันสงกรานต์จะมีเพียงการประกวดผู้หญิงหรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “นางสงกรานต์” เท่านั้น การจัดประกวดผู้ชายหรือที่เรียกในตำแหน่งว่า “เทพบุตรสลุงหลวง” นี้ ยังไม่เคยมีที่ใดจัดขึ้นมาก่อน ทำให้จังหวัดลำปางได้ชื่อเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่มีการประกวดผู้ชายในวันสงกรานต์ โดยการประกวดนี้เริ่มจัดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ส่งผลให้ในพื้นที่อื่นๆ เกิดความสนใจที่จะจัดประกวดผู้ชายในลักษณะนี้บ้าง เช่น การประกวดหนุ่มลอยชาย ในงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หรือการประกวดเทพบุตรสงกรานต์ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านี้คือ ในการตัดสินในรอบสุดท้ายเพื่อค้นหาผู้ที่จะได้รับตำแหน่งเทพบุตรและเทพธิดาสลุงหลวง ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับตัดสินจากการเสี่ยงใบมะยมซึ่งผู้จัดการประกวดกล่าวว่า “เป็นการตัดสินจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์” (สกนธ์ ปิงกัน. สัมภาษณ์เมื่อ 6 เมษายน พ.ศ.2558) นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้มิได้เกิดจากความบังเอิญ หากแต่เกิดจากการประยุกต์ใช้ความเชื่อและภูมิปัญญาในท้องถิ่นหลายประการมาสร้างสรรค์กิจกรรมได้อย่างชาญฉลาด กล่าวคือ

1. การนำความเชื่อเรื่องเทวดาอารักษ์มาประยุกต์ใช้กับการสร้างบทบาทของเทพบุตรสลุงหลวง
สลุง คือ ภาชนะที่ทำจากเงิน ทองคำ ทองเหลือง เครื่องเขิน หรืออะลูมิเนียมขึ้นรูปเป็นครึ่งวงกลมคล้ายขันน้ำ ใช้ใส่เครื่องไทยทานและข้าวตอกดอกไม้ไปทำบุญที่วัด หรือใช้ใส่เครื่องคารวะไปในการดำหัวและงานบุญต่างๆ สลุงหลวงของจังหวัดลำปางเป็นภาชนะที่มีขนาดใหญ่กว่าที่มีใช้กันโดยทั่วไป เหตุเพราะเป็นการจัดสร้างเพื่อใช้เป็นที่รวบรวมน้ำขมิ้นส้มป่อยสำหรับสรงน้ำพระเจ้าแก้วดอนเต้าซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปางโดยเฉพาะ สรณ มรกตวิจิตรการ ได้กล่าวถึงที่มาของสลุงหลวงใบนี้ว่า ชมรมเทิดมรดกเขลางค์นครโดยการนำของคุณหญิงวลัย ลีลานุช อาจารย์บัญญัติ ภู่ศรัณย์ และอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2533 โดยได้รับเงินบริจาคจากประชาชนในจังหวัดลำปางและจังหวัดอื่นๆ ช่วยสนับสนุน ได้ยอดเงินรวมทั้งสิ้น 433,198 บาท มีขนาดกว้าง 89 เซนติเมตร สูง 49 เซนติเมตร ลักษณะเป็นสลุงเกลี้ยง ภายในสลักรายชื่อผู้บริจาคเงินในการจัดสร้าง รอบๆ ขอบบนภายนอกของสลุงจารึกเป็นภาษาล้านนาข้อความว่า “สลุงเงินหลวงแก่นนี้ จาวเมืองลำปางแป๋งตานไว้ใส่น้ำอบ น้ำหอม ขมิ้นส้มป่อย สระสรงองค์พระเจ้าแก้วดอนเต้า เวียงละกอน ในวันปี๋ใหม่เมือง เพื่อก้ำจุนพระศาสนาฮอดเติงห้าปันวรรษา” (2536, น. 51-52) ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 จังหวัดลำปางได้รับเงินบริจาคจำนวน 125,207 บาท จากชมรมเทิดมรดกเขลางค์นคร สำหรับนำมาจัดสร้างฐานของสลุงหลวงซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งทรงสูงหกเหลี่ยม ความสูง 94 เซนติเมตร ฐานด้านบนกว้าง 70 เซนติเมตร ด้านล่างกว้าง 80 เซนติเมตร มีรูปเทวดา 6 องค์ จากสวรรค์ 6 ชั้น อยู่รายรอบฐานเพื่อให้ช่วยกันประคับประคองและปกป้องรักษาสลุงหลวงใบนี้ไว้ (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 13, 2542, น. 6646) โดยทั่วไปชาวล้านนามีคติความเชื่อว่าตามโบราณสถานหรือสถานที่สำคัญของหมู่บ้าน เช่น วัด จะมีอารักษ์อยู่เฝ้ารักษา ซึ่งชาวล้านนาจะเรียกกันในชื่อว่า “ผีเสื้อ หรือ เสื้อ” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 14 (2542, น. 7225) ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับคำนี้ว่า หมายถึงวิญญาณที่คอยดูแลรักษาสถานที่ และเรียกตามชื่อของสิ่งที่ “เสื้อ” หรือ “ผีเสื้อ” นั้นดูแลรักษาอยู่ เช่น เสื้อนา หมายถึง วิญญาณที่ดูแลรักษานา ซึ่งชาวบ้านมักสร้าง หอผีเสื้อนา ให้เป็นที่อยู่และรับเครื่องสังเวย โดยอาจอยู่ที่ตอนหัวนา ทำหิ้งติดกับต้นไม้ หรือทำซุ้มเล็กๆ ไว้กลางผืนนาก็ได้
ส่วนคำว่าเทวดา ในวัฒนธรรมล้านนาหมายถึง ผู้ที่อยู่ในสวรรค์ ซึ่งจะอยู่ในฐานะของผู้ที่ควรแก่ความเคารพเป็นตัวแทนของคุณความดีที่ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ และเป็นพยานในการกุศลหรือกิจกรรมที่ต้องการความศักดิ์สิทธิ์หรือดีงาม (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 6, 2542, น. 2858) เมื่อพิจารณาจากความหมายของ “เสื้อ” และ “เทวดา” จะพบว่ามีความแตกต่างกันในด้านของบทบาทและถิ่นอาศัย กล่าวคือ เสื้อหรือผีเสื้อมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษามักอาศัยอยู่ตามสถานที่สำคัญบนโลก แต่เทวดามีหน้าที่ในการเป็นพยานในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญหรือเข้าร่วมในพิธีศักดิ์สิทธิ์และอาศัยอยู่บนสวรรค์ เมื่อพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับที่มาและการจัดสร้างสลุงหลวงข้างต้นจะเห็นได้ว่า คณะผู้จัดสร้างสลุงหลวงได้เชื่อมโยงบทบาทของเทวดากับอารักษ์เข้าไว้ด้วยกันและยังสร้างภาพแทนจากเทวดารูปสลักให้กลายมาเป็นเทพบุตรผู้มีชีวิต ทำให้สามารถยืนคุ้มกันสลุงหลวงให้ตั้งอยู่อย่างมั่นคงไปตลอดเส้นทางที่ขบวนแห่เดินผ่านและยังสามารถเป็นประจักษ์พยานในการสรงน้ำพระให้แก่ประชาชนได้โดยตรงอีกด้วย กล่าวคือ ผู้ที่มารอสรงน้ำสรงพระเจ้าแก้วดอนเต้าจะเทน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่กระบวยที่เทพบุตรยื่นมารับหรืออาจยื่นขันสลุงหรือภาชนะอื่นๆที่ใส่น้ำสำหรับสรงพระไปให้เทพบุตรสลุงหลวงและผู้เข้ารอบสุดท้ายคนอื่นๆ ให้ช่วยนำไปเทรวมกันไว้ที่สลุงหลวงก็ได้ อย่างไรก็ดี การสรงน้ำพระพุทธรูปในช่วงสงกรานต์นั้น หากไม่ใช่พระพุทธรูปที่อยู่ในบ้านแล้วชาวล้านนามักจะไม่สรงน้ำพระพุทธรูปนั้นโดยตรงเพราะเป็นการไม่สุภาพ แต่จะเทน้ำขมิ้นส้มป่อยให้ไหลไปตามรางรินที่ทางวัดได้จัดไว้ เมื่อน้ำไหลผ่านพระพุทธรูปแล้ว ชาวบ้านมักจะรองน้ำนั้นไปใช้ในการประพรมบริเวณต่างๆภายในบ้าน บ้างก็นำมาใช้สำหรับดื่มหรือผสมน้ำไว้อาบเพื่อให้เกิดความสิริมงคลเนื่องวันปีใหม่เมือง สำหรับขบวนแห่สลุงหลวงเมื่อเคลื่อนไปยังปลายทางคือ บริเวณห้าแยกหอนาฬิกาแล้ว เจ้าหน้าที่จะช่วยกันยกสลุงหลวงลงจากขบวนแห่แล้วนำมาตั้งไว้ยังบริเวณพิธีที่ใช้สำหรับสรงน้ำพระเจ้าแก้วดอนเต้า หลังจากนั้นเทพบุตรสลุงหลวง จะเป็นตัวแทนสรงน้ำพระโดยใช้กระบวยตักน้ำในสลุงหลวงแล้วเทลงไปยังรางรินด้านหางของพญานาค น้ำจะค่อยๆไหลไปยังปากของนาคที่มีปลายทางคือ พระเจ้าแก้วดอนเต้า

2. การนำวิธีการเสี่ยงทายและการนำความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประยุกต์ใช้กับการตัดสินการคัดเลือก ผู้สมควรได้รับตำแหน่งเทพบุตรสลุงหลวง
การประกวดที่จัดขึ้นในงานประเพณีและงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานฤดูหนาว หรืองานเทศกาลผลไม้ของท้องที่ต่างๆ โดยทั่วไปมักจะเป็นการประกวดผู้หญิง เช่น การประกวดนางนพมาศ ในประเพณีลอยกระทงหรือการประกวดนางสงกรานต์ ในประเพณีสงกรานต์ ผลการตัดสินมักมาจากคะแนนของกรรมการที่ร่วมกันพิจารณาจากบุคลิกภาพ การตอบคำถาม การแสดงความสามารถพิเศษ เป็นต้น แต่การประกวดบุคคลเนื่องในประเพณีสงกรานต์ของจังหวัดลำปาง ได้มีการสร้างขนบในการประกวดขึ้นมาใหม่ คือ มีการประกวดผู้ชายในประเพณีสงกรานต์หรือที่เรียกกันว่า “เทพบุตรสลุงหลวง” ในฐานะผู้รับน้ำสำหรับสรงพระพุทธรูปร่วมกับการประกวดหญิงสาวหรือ “เทพธิดาสลุงหลวง” ในฐานะผู้เป็นนางสงกรานต์ของจังหวัดลำปาง สำหรับขั้นตอนการประกวดนอกจากจะคัดเลือกจากรูปร่างหน้าตาและบุคลิกภาพของผู้เข้าประกวดแต่ละคนแล้ว ยังใช้พิธีการเสี่ยงทายแบบชาวล้านนาอีกด้วย โดยแนวคิดเรื่องการเสี่ยงทายนี้ ผู้ประกอบพิธีคือ คุณวิษณุกร ทรายแก้ว (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558) ได้กล่าวถึงวิธีการเสี่ยงทายของชาวล้านนาว่าโดยทั่วไปจะมีอยู่ด้วยกัน 7 วิธีด้วยกัน คือ 1. การนับข้าวเปลือก 2. การนับข้าวสาร 3. การนับใบมะยม 4. การตั้งไข่ 5. การตั้งดาบ 6. การวาไม้ และ 7. การแกว่งข้าว โดยการประกวดเทพบุตรสลุงหลวงที่ผ่านมาปรากฏว่ามีการใช้การเสี่ยงทายอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การนับเม็ดมะขาม และการเสี่ยงทายโดยวิธีการหยิบก้านมะยมที่ติดหมายเลขต่างๆไว้ สำหรับการเสี่ยงทายด้วยการนับจำนวนของชาวล้านนานั้นเชื่อว่าหากได้ผลออกมาเป็นเลขคู่จะถือว่าดี เช่น ในการเลี้ยงผีปู่ย่า หากอยากทราบว่าของที่นำมาเลี้ยงนั้นท่านได้กินหรือท่านพอใจหรือไม่ ผู้ประกอบพิธีก็จะหยิบข้าวสารขึ้นมาจำนวนหนึ่ง แล้วนับจำนวนเมล็ดข้าวที่หยิบได้ หากได้เลขคู่ก็จะหมายถึงผีปู่ย่าท่านพอใจแล้ว หรือได้กินเครื่องเซ่นเรียบร้อยแล้ว และเพื่อให้เกิดความมั่นใจก็จะมีการอธิษฐานซ้ำว่าขอให้เป็นเลขคู่อีกครั้ง หากหยิบสองครั้งได้เลขคู่ทั้งสองครั้งจะเรียกว่าคู่สอง หรือหยิบสามครั้งได้เลขคู่ทั้งหมดก็จะเรียกว่าคู่สาม เป็นต้น กล่าวเฉพาะการเสี่ยงทายในการประกวดเทพบุตรสลุงหลวงโดยเสี่ยงจากการเลือกก้านมะยมนั้น จะเป็นการประยุกต์จากการนับใบมะยมมาเป็นการนับเปิดเลขคู่หรือเลขคี่ที่ได้นำมาพับติดไว้ที่ก้านมะยมแทน ทั้งนี้ก็เพื่อลดระยะเวลาในการประกวดให้กระชับมากขึ้น โดยผู้จัดการประกวดจะเตรียมหมายเลขตั้งแต่ 0-9 มาพันปิดไว้ที่ก้านของ ใบมะยมแต่ละก้าน แล้วนำก้านมะยมที่เตรียมไว้นี้ไปให้ผู้เข้ารอบสุดท้ายแต่ละคนเลือกคนละ 3 ก้าน หากผู้เข้าประกวดสามารถเลือกก้านมะยมออกมาได้เลขคู่จำนวนมากที่สุดก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะในการประกวด อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะให้ผู้ผ่านการคัดเลือกในรอบสุดท้ายจำนวน 3 คน (ผู้ชาย 3 คน และผู้หญิง 3 คน) ได้เสี่ยงทายโดยการหยิบก้านมะยมที่กองประกวดได้จัดเตรียมให้ จะมีการแห่ขบวนเครื่องสักการะล้านนาขึ้นมาบนเวที หลังจากนั้น “พ่อหนาน” หรือผู้ประกอบพิธีกรรมจะกล่าวอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เข้ามาร่วมในพิธีและเป็นผู้เลือกเทพบุตรเทพธิดาสลุง หลวงผ่านการเสี่ยงทายใบมะยม โดยพิธีกรรมการเสี่ยงทายนี้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2555 โดยหัวหน้าฝ่ายการประกวดคือ คุณสกนธ์ ปิงกัน (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561) ได้กล่าวถึงการนำใบมะยมเข้ามาช่วยในการตัดสินนี้ว่า ช่วยลดความขัดแย้งและความสงสัยถึงการได้มาของผู้ชนะการคัดเลือก เพราะในเมื่อเป็นการตัดสินจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน ข้อครหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีผลการตัดสินออกมาแล้วไม่ตรงใจกับกองเชียร์ของผู้เข้าร่วมประกวดก็จะหมดไป ซึ่งอาจกล่าวได้อีกอย่างว่าการประกวดเทพบุตรสลุงหลวงของจังหวัดลำปางนั้นนอกจากจะต้องมีบุคลิกภาพที่ดีแล้วยังต้องมีโชคประกอบด้วย พิธีกรรมนี้จึงถือเป็นการสืบสานและเผยแพร่วิธีการเสี่ยงทายของชาวล้านนาให้เป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่นได้อย่างดี สำหรับคำกล่าวอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เข้ามาร่วมในพิธีการประกวดคัดเลือกนั้น มีข้อความว่า "สุณันตุโภนโจ๋เตวสังฆาโย ฟังละฟังลา ฝูงหมู่เตปา เตปินอินตา พรมยมราชต้าว เกิดด่านด้าว เขตปายบน ตังต้าวสี่ตน อันอยู่ฮักษายังเขาสัตพรรณ เจ็ดเหลี่ยมเหล้มยุกันธร ตังดาบสระสีจ๋รต๋นวิโรจน์ ตั้งต้าวหกตน ก่อสร้างตนก่อตั้งแป๋งเมืองกับตังต้าวบุญเรือง ตนฉลาดตนผาบแป๊ แล้วกู้แดนดอนผู้ข้า ขออัญเจิญ เจ้าตั้งหลายจงจักมาพร่ำฮู้ แล้วค่อยกราบวันตี ขออัญเชิญจุ่งมาเป๋นสักขี จุ่งมาเป๋นสักขีหมายเหมียดในพิธีการที่ข้า กาลเมื่อบัดนี้ ผู้ข้าจักได้เสี่ยงตวาย ว่าปุคคละ ผู้ใดผู้ใดสมควรจักได้ เป๋นเตพบุตรและเตพธิดา ขอเทวดาจงได้แจงเตี้ยงแท้หนอ ดีงาม ก่อนเตอะ (วิษณุกร ทรายแก้ว สัมภาษณ์เมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ.2561) สำหรับมโนทัศน์เกี่ยวกับเทวบุตร หรือ เทพบุตร ของชาวล้านนานั้น สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ ได้อธิบายไว้ว่า "เทวบุตร จากความเห็นของนักปราชญ์นั้น อาจสรุปได้สองประการ คือ (1) เทพ คือ โอปปาติก คือเกิดได้โดยไม่ต้องอาศัยการก่อกำเนิดจากพ่อแม่ คำว่า “บุรุษ” และ “อิตถิโย” มิได้บ่งว่าผู้ชายหรือผู้หญิง แต่หมายถึงเพศชายหรือเพสหญิง คือ เทวดาชาย ก็เรียกว่า “เทวบุตร” และทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นเพศหญิงก็เรียก “เทวธิดา” ...โดยปกติผู้ที่อยู่ในตักของพ่อแม่ย่อมถือว่าเป็นลูก ในกรณีของเทวดานี้ก็เช่นเดียวกันเทวบุตรคือผู้ที่เพิ่งจะเสวยภาวะเป็นเทวดา และมีอายุน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในที่นั้นมาก่อน (2) เทวบุตรอาจเป็นเทพผู้ด้อยยศตามลำดับชั้นของเทพ ลักษณะเช่นนี้ พวกยักษ์ก็ย่อมเป็นเทวบุตรได้...แต่อาจกล่าวได้ว่าเทวบุตรอาจเป็นระดับชั้นของเทพโดยที่น่าจะเป็นระดับที่ต่ำกว่า" หากพิจารณาตามลักษณะทั่วไปแล้ว เทวบุตรมีสองประเภท คือ ประเภทที่ทรงรัศมีรุ่งเรืองและประเภทที่ไม่มีรัศมีเช่นนั้น เทวบุตรคือผู้มีภาวะจิตสูงและยึดมั่นในพระรัตนตรัย คาถาที่เหล่าเทพบุตรกล่าวนั้นมีลักษณะงามด้วยคุณค่าทางธรรมจริยาและปรัชยา ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของผู้กล่าว การปรากฏของเทวบุตรจึงเป็นเหมือนเครื่องบ่งชี้ถึงบุคคลที่ใฝ่แสวงหาหนทางให้แก่หมู่มวลมนุษย์ ในวิถีของวัฒนธรรมล้านนาแล้วถือว่า เทวบุตรและเทวดา เป็นตัวแทนของความดีงาม โดยเฉพาะถือว่าเป็นประชากรสวรรค์ที่จะได้รับการอัญเชิญให้ปรากฏหรือร่วมรับรู้และอนุโมทนาในงานการกุศล หรือกิจกรรมที่ต้องการความศักดิ์สิทธิ์เสมอ (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 14, 2542, น. 2862 - 2863) เมื่อพิจารณาถึงความหมายของคำว่าเทพบุตรข้างต้น จะพบว่าผู้จัดการประกวดมิได้ประยุกต์พิธีกรรมเสี่ยงทายมาใช้กับการตัดสินเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นจากความสงสัยในผลการประกวดเท่านั้น แต่ยังสามารถเชื่อมโยงกับมโนทัศน์และบทบาทของเทพบุตรในวัฒนธรรมของชาวล้านนาได้อีกด้วย กล่าวคือ การได้รับตำแหน่ง “เทพบุตร” ซึ่งต้องทำหน้าปกป้องรักษาสลุงหลวงในพิธีแห่แล้ว ยังต้องเป็นพยานในการทำบุญหรือมาร่วมอนุโมทนาบุญซึ่งในที่นี้คือ การรับน้ำสรงพระเจ้าแก้วดอนเต้าจากประชาชนอีกด้วย การได้รับหน้าที่พิเศษเช่นนี้ ย่อมไม่อาจคัดเลือกได้จากตาเปล่าของกรรมการซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่เข้าร่วมการตัดสิน แต่จะต้องเป็นการคัดเลือกจากผู้มีตาทิพย์หรือก็คือ เทวดาที่ได้รับการอัญเชิญให้มาร่วมในพิธีการเสี่ยงทายเท่านั้น จึงจะทำให้การคัดเลือกเทพบุตรสลุงหลวงนั้นถูกต้องสมบูรณ์ และย่อมทำให้ผู้ได้รับการคัดเลือกรู้สึกมั่นใจในการทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์บนขบวนแห่สลุงหลวงให้สำเร็จลุล่วง

รายการอ้างอิง
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. เทวดา. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 6 (2542). 2858.
....................................... . เทวบุตร. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 6 (2542). 2862-2863.
....................................... . สลุงหลวงเมืองลำปาง. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 13 (2542). 6646.
....................................... . เสื้อ. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 14 (2542). 7225.
สรณ มรกตวิจิตรการ. (2536). สลุงหลวง ในหนังสือทีระลึกงานฌาปนกิจศพ คุณหญิงวลัย ลีลานุช, (น. 49-53). ลำปาง: จิตวัฒนาการพิมพ์

สัมภาษณ์
วิษณุกร ทรายแก้ว. สัมภาษณ์ครั้งที่ 1, เมื่อ 3 เมษายน พ.ศ. 2558
วิษณุกร ทรายแก้ว. สัมภาษณ์ครั้งที่ 2, เมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561
สกนธ์ ปิงกัน. สัมภาษณ์ครั้งที่ 1, เมื่อ 6 เมษายน พ.ศ.2558
สกนธ์ ปิงกัน. สัมภาษณ์ครั้งที่ 2, เมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ที่มาของภาพ
- สลุงหลวงภาพที่ 1-2 (ถ่ายภาพโดยคณะวิจัยฯ)
- รูปเทพบุตรสลุงหลวงและบรรยากาศการแห่สลุงหลวงนำมาจากเพจเทศบาลนครลำปาง เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/nakhonlampang.pr/photos/a.462154530575770.1073742104.274768539314371/462173170573906

แหล่งข้อมูล : ภาณุวัฒน์ สกุลสืบ. (2561). การสร้างสรรค์ประเพณีด้วยคติชนประยุกต์ : กรณีศึกษาเทพบุตรสลุงหลวงในงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมือง นครลำปาง. รายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ เครือข่ายบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ ครั้งที่ 18 และลำปางวิจัย ครั้งที่ 4 . หน้า 1008-1028. ลำปาง: มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.
ผู้บันทึก : Panuwat Sakulsueb
วันที่บันทึก : 09/08/2564
เปิดอ่าน : 747 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง