ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ ประเพณีแก้มื้อนา วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
ชื่อประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ : ประเพณีแก้มื้อนา วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
สถานที่จัด : วัดพระธาตุลำปางหลวง ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง
ประเภท : ประเพณี
เดือน : กรกฎาคม
ช่วงเวลา : กรกฎาคม-กันยายน (เข้าพรรษา)
คำอธิบายอื่นๆ : ในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี ชาวลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง จะร่วมกันทำบุญในประเพณีแก้มื้อนาซึ่งดำเนินต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ประเพณีแก้มื้อนา จะทำทุกๆวันพระตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่เข้าพรรษา รวมกันทั้งสิ้น 12 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะมีเจ้าภาพหรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “เจ้ามื้อ” เป็นผู้นำของมาทำบุญที่วัด ผู้เป็นเจ้ามือนี้มาจากคนในชุมชนที่อาศัยอยู่รายล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงรวมทั้งสิ้น 4 หมู่บ้าน คือ ม.1, ม.2, ม.7 และ ม.8 รวม 7 ชุมชน คือ บ้านลำปางหลวง, บ้านนางเหลียว, บ้านท่าผา, บ้านไหล่หิน, บ้านข้าวซ้อน, บ้านน้ำล้อม และบ้านหนองล่าย สำหรับการสำรวจเจ้ามื้อในแต่ละครั้งมีผลการศึกษารวบรวมดังนี้ มื้อที่ 1 มี 35 เจ้ามื้อ, มื้อที่ 2 มี 34 เจ้ามื้อ, มื้อที่ 3 มี 13 เจ้ามื้อ, มื้อที่ 4 มี 12 เจ้ามื้อ, มื้อที่ 5 มี 10 เจ้ามื้อ, มื้อที่ 6 มี 29 เจ้ามื้อ, มื้อที่ 7 มี 36 เจ้ามื้อ, มื้อที่ 8 มี 15 เจ้ามื้อ, มื้อที่ 9 มี 12 เจ้ามื้อ, มื้อที่ 10 มี 28 เจ้ามื้อ มื้อที่ 11 มี 15 เจ้ามื้อ และมื้อที่ 12 จะมีเจ้ามื้อ

สำหรับขั้นตอนการแก้มื้อนาจะเริ่มจากวันก่อนวันพระ หรือที่เรียกว่า “วันดา” เจ้ามื้อแต่ละบ้านจะช่วยกันจัดเตรียมของทำบุญให้แก่บรรพบุรุษ ผีเจ้านา ญาติที่เสียไปแล้ว ฯลฯ โดยจะจัดเตรียมอาหารและเข้าของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันใส่ไว้ในถังน้ำหรือตะกร้าสำหรับถวายเป็นเครื่องกัณฑ์เทศน์ในยามพระสงฆ์มาเทศนาธรรมแต่ละผูก แต่จะมีสัญลักษณ์พิเศษบางอย่างที่ทำให้ทราบว่าเป็นของใช้ที่อุทิศให้แก่ผู้ตายก็คือ “ตุง” ขนาดเล็กที่ตัดเป็นลวดลายเฉพาะใส่ไว้ด้วย ส่วนเครื่องกัณฑ์เทศน์หรือของทำบุญให้กับตนเองหรือคนในครอบครัวที่ยังมีชีวิต เจ้ามื้อจะนำของกินของใช้ในชีวิตประจำวันมาใส่ไว้ในถังหรือตะกร้าเช่นเดียวกันแต่จะเพิ่มหน่อกล้วย หน่ออ้อย มะพร้าวเครือ กล้วยเครือ และไม้ค้ำศรีขนาดเล็กยาวประมาณ 1 ศอก จำนวน 3 ท่อน มัดรวมกันกับ “ขัวแตะ”(ไม้ผ่าสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ยาวขนาด1 ฝ่ามือ) และจะไม่ใส่ตุงเหมือนกับของที่ใช้ทำบุญให้กับคนตาย เจ้าที่นา หรือวิญญาณบรรพบุษ สำหรับอาหารที่ใช้ในพิธีแก้มื้อนาที่จะขาดไม่ได้คือ ห่อนึ่ง ซึ่งเจ้ามื้อจะต้องเตรียมไว้ 2 ขนาด คือ ห่อนึ่งขนาดใหญ่ เรียกว่า “ห่อนึ่งหลวง หรือ ห่อปี้” จำนวน 2 ห่อ สำหรับนำไปไหว้อารักษ์ที่เฝ้ารักษาพระธาตุ และห่อนึ่งขนาดเล็ก เรียกว่า “ห่อน้อง” จำนวนให้มากพอสำหรับใส่กระบุงของพ่อแม่พระที่นำมาวางไว้ในตอนทำบุญอีกด้วย นอกจากนี้คือการ “ตานธรรม” หรือการทำบุญด้วยใบลานปั๊บสาที่ได้บันทึกธรรมต่าง ๆ ที่พระจะนำมาใช้เทศนาให้เจ้ามื้อนาฟังในวันรุ่งขึ้น โดยปัจจุบันนี้ผู้เป็นเจ้ามื้อนาในแต่ละวันพระจะไปแจ้งชื่อของตนเองและแจ้งชื่อธรรมที่ต้องการฟังพระเทศน์ที่พ่อหนานวัดก่อนอย่างน้อย 1 วัน สำหรับขั้นตอนในการทำบุญแก้มื้อนาจะทำกันในวันพระตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการเข้าพรรษา โดยแต่ละครั้งจะมีพิธีการในช่วงเวลาต่าง ๆ ดังนี้

1. ช่วงเช้า จะมีการทำบุญตักบาตรเหมือนกันพื้นที่อื่น ๆ ทั่วไปแต่ผู้ที่เป็นเจ้ามื้อนาจะต้องนำข้าวเปลือกและข้าสารมาถวายพระด้วย ส่วนอาหารที่นำมาตักบาตรจะต้องมี “ห่อนึ่งหลวง” จำนวน 2 ห่อ เตรียมไว้สำหรับไหว้อารักษ์ที่ช่วยรักษาพระธาตุ และนำห่อนึ่งห่อเล็กมาใช้สำหรับใส่กระบุง (ชาวลำปางหลวงเรียกว่า บาตรพระ) ที่พ่อแม่ของพระนำมาวางเรียงกันในวิหารพระเจ้าล้านทอง

2. ช่วงกลางวัน ชาวบ้านที่อยู่ไกลเช่น หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 หรือผู้สูงอายุจะอยู่ทานข้าวกลางวันที่วัดด้วยกัน และหลังจากนั้นจะเป็นการขอพรผู้สูงอายุ โดยผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าจะนำเมี่ยง/บุหรี่ หรือลูกอมมาใส่ที่ขันดอกไม้ของผู้สูงอายุ หลังจากนั้นก็จะได้รับพร สำหรับกิจกรรมนี้จะมีเวลาถึงช่วงพักเที่ยงเท่านั้น แต่สมัยก่อนจะเป็นการทำข้าวต้มมัดมาแจก โดยเจ้ามื้อนาจะเป็นผู้ที่เตรียมขนมต้มหรือข้ามต้มมัดหรืออาหารอย่างๆมาแจกให้กับทุกคนที่มาทำบุญและอยู่ฟังธรรมร่วมกันที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

3. ช่วงบ่ายถึงค่ำ ชาวลำปางหลวงจะร่วมกันสวดมนต์ไหว้พระ หลังจากนั้นพระสงฆ์หรือเณรจะขึ้นธรรมาสน์แล้วเทศนาการทำบุญข้าวเปลือกและข้าวสาร เมื่อเสร็จแล้วจะแยกย้ายกันไปเทศนาตามใบลานหรือพับสาที่เจ้ามื้อนาได้ถวายติดกัณฑ์เทศน์แต่ละอันไว้ สมัยก่อนพระจะเทศน์ไปทีละกัณฑ์จนหมดซึ่งทำให้ใช้เวลานานต่อเนื่องไปจนถึงเที่ยงคืนหรือมากกว่านั้นก็มี เหตุเพราะในแต่ละมื้อนาจะมีกัณฑ์เทศน์ไม่น้อยกว่า 200 กัณฑ์นั่นเอง แต่ในปัจจุบันจะเป็นการรวมข้อธรรมที่เจ้ามื้อนาถวายตรงกันให้มาฟังพระเทศนาด้วยกัน จึงทำให้ใช้เวลาไม่มากประมาณ 4 โมงเย็นคณะสงฆ์ก็สามารถเทศนาธรรมได้ครบทุกกัณฑ์ตามที่เจ้ามื้อนาได้เตรียมไว้

แหล่งข้อมูล : ภาณุวัฒน์ สกุลสืบ. (2558). รายงานการวิจัย การศึกษาประเพณีแก้มื้อนาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง. ลำปาง: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.
ผู้บันทึก : Panuwat Sakulsueb
วันที่บันทึก : 10/08/2564
เปิดอ่าน : 767 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง