ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ พิธีขอฝน-ฟังธรรมพญาปลาช่อน บ้านป่าเหว อ.เมืองปาน จ.ลำปาง
ชื่อประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ : พิธีขอฝน-ฟังธรรมพญาปลาช่อน บ้านป่าเหว อ.เมืองปาน จ.ลำปาง
สถานที่จัด : เกาะทราย/ลานทรายกลางขุนน้ำแม่ตุ๋ย(แม่บอม)​ บ้านป่าเหว (ม.3) ต.บ้านขอ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง
ประเภท : พิธีกรรม
เดือน : สิงหาคม
ช่วงเวลา : ในปีที่ฝนแล้งหรือมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ และหากปีใดมีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมากก็จะไม่ทำพิธีนี้
คำอธิบายอื่นๆ : พิธีขอฝนบ้านป่าเหว
พิธีขอฝนหรือการฟังธรรมพญาปลาช่อนของชุมชนบ้านป่าเหว ม.3 ต.บ้านขอ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เป็นพิธีที่ทำขึ้นมากว่า 100 ปี ชาวบ้านที่นี่จะทำพิธีนี้ในปีที่มีน้ำน้อยหรือเห็นว่าฝนขาดช่วงไปจนอาจกระทบต่อการทำการเกษตร เช่น การปลูกข้าว การทำสวน-ทำไร่ เป็นต้น สำหรับการประกอบพิธีกรรมจะแบ่งเป็น 2 วัน คือ วันดา และวันฟังธรรมพญาปลาช่อน โดยในวันดา (วันเตรียมงาน) นั้น พ่ออาจารย์(ผู้ทำพิธี)จะเป็นผู้จัดเตรียมของสำหรับขึ้นท้าวทั้งสี่ และขั้นตั้งเครื่อง 12 สำหรับใช้ในพิธีกรรม ส่วนผู้ร่วมพิธีคนอื่นๆ ก็จะไปช่วยกันเตรียมสถานที่ คือ การเลือกและปรับเนินทรายที่อยู่กลางลำน้ำแม่ตุ๋ย(แม่บอม) ให้มีความเหมาะสมสำหรับขัดราชวัติไว้เป็นปะรำพิธีในวันรุ่งขึ้น และจะช่วยกันทำปราสาทเสาเดียวสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสำหรับสรงน้ำ ทั้งยังมีการขุดสระน้ำเล็กๆ ไว้ตรงกลางปะรำพิธีเพื่อใช้ลอยหุ่นปลาช่อนที่ทำจากไม้ นอกจากนี้คือการนำไม้มาแกะเป็นรูปนกต่างๆ เช่น นกกระสา นกอีกา นกเหยี่ยว ฯลฯ แล้วนำมาตั้งไว้รอบๆสระ และให้ด้านหนึ่งเป็นรูปหุ่นพญาปลาช่อนที่แหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้าทำอาการเหมือนกับกำลังอธิษฐานให้ฝนตกลงมาเช่นเดียวกับเนื้อเรื่องในพระธรรมเทศนาเมืองเหนือเรื่อง มัจฉาพญาปลาช่อน ที่กล่าวถึงพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพญาปลาช่อน คอยดูแลปกครองปลาน้อยใหญ่ตลอดจนสัตว์น้ำต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในสระร่วมกัน วันหนึ่งเกิดภัยแล้งทำให้น้ำในสระแห้งขอด เหล่านกกาจึงพากันบินลงมาจิกกินฝูงปลาและสัตว์น้ำต่างๆ เป็นอันมาก เมื่อพญาปลาช่อนได้เห็นความทุกข์ร้อนของบริวารจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อเบื้องบนให้มีฝนตกลงมา ด้วยสัจจะอธิษฐานและบารมีของพระโพธิสัตว์จึงช่วยบันดาลให้มีน้ำฝนตกลงมาในสระเป็นปริมาณมากช่วยให้เหล่าสัตว์น้ำทั้งหลายรอดพ้นจากภัยพิบัติในครั้งนั้น

สำหรับวันประกอบพิธี จะเริ่มจากการตั้งขบวนแห่ของชาวบ้านที่นำโดยวงฆ้อง-กลอง ตีแห่นำมา ต่อจากนั้นเป็นขบวนอัญเชิญพระพุทธรูปปางประทานพร และคณะสงฆ์ จำนวน 5 รูป (อาจเป็น 7 รูปหรือ 9 รูปก็ได้ ตามแต่คณะศรัทธาจะนิมนต์) ตามด้วยกลุ่มชาวบ้านที่ถือเครื่องต่างๆ ที่ใช้ในพิธี เช่น น้ำต้น หมอน ข้าวตอกดอกไม้ น้ำขมิ้นส้มป่อย ต้นกล้วย ต้นอ้อย กล้วยเครือ มะพร้าวเครือ ช่อสีต่างๆ ตุงชัย ขนมต้ม และผลไม้ต่างๆ เมื่อขบวนมาถึงปะรำพิธีแล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันประกอบเครื่องบวงสรวงต่างๆในราชวัติ อัญเชิญพระพุทธรูปปางประทานพรขึ้นไว้บนปราสาทเสาเดียว หลังจากนั้นพ่อหนานจะทำพิธีบูชารับต้อนและขึ้นขันท้าวทั้งสี่ เมื่อพ่อหนานทำพิธีเสร็จแล้วก็จะเป็นพิธีสงฆ์ ประธานจะจุดูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ไหว้พระสมาทานศีล พระสงฆ์แสดงธรรมเทศนาเรื่อง มัจฉาพญาปลาช่อน ต่อจากนั้นเป็นการสวดพระพุทธมนต์ 7 ตำนาน 12 ตำนาน คาถาขอฝน คาถาปลาช่อน และพ่ออาจารย์กล่าวคำโอกาส สุดท้ายคือการร่วมกันเข้าไปสรงน้ำพระพุทธรูปปางประทานพรที่ปะรำพิธีเพื่อขอพรให้ฝนตกและมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปี

แหล่งข้อมูล : สัมภาษณ์พระอาจารย์เกรียงศักดิ์ จันทรังสี เจ้าอาวาสวัดทุ่งบอน ต.บ้านขอ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง
ผู้บันทึก : Panuwat Sakulsueb
วันที่บันทึก : 23/08/2564
เปิดอ่าน : 1,433 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2568 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง