พุทธศิลป์ จิตรกรรม ป. สุวรรณสิงห์ วัดบุญวาทย์วิหาร พระอารามหลวง
ชื่อพุทธศิลป์ : จิตรกรรม ป. สุวรรณสิงห์ วัดบุญวาทย์วิหาร พระอารามหลวง
ที่อยู่ : วัดบุญวาทย์วิหาร พระอารามหลวง ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง
ประเภท : จิตกรรมฝาผนัง
ประวัติความเป็นมา : จิตรกรรมตามหลักฐานของทางวัด เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ได้ส่งช่างมาลอกแบบการสร้าง พระอารามหลวงที่กรุงเทพฯ ครั้นนั้นเข้าใจว่าคงได้ช่างจากเมืองหลวง ชื่อนายจันทร์ จิตรกร มาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในในพระอุโบสถทั้งหมด ในเวลาต่อมา นายปวน สุวรรณสิงห์ ช่างพื้นเมืองได้ทำการซ่อมแชมภาพจิตรกรรมเพราะส่วนที่ชำรุดและได้จารึกชื่อไว้ที่ฝาผนัง ด้านหน้าของอุโบสถไว้ด้วย ครั้น พ.ศ.๒๔๗๓ ท่านเจ้าคุณพระธรรมจินดานายก เจ้าคณะจังหวัดลำปางและเจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร ได้ทำการปฏิสังขรณ์ชุ่มประตูพระอุโบสถใหม่ทั้ง ๓ ซุ้ม ดังมีข้อความจารึกไว้ที่หน้าพระอุโบสถดังนี้ “ซุ้มประตูพระอุโบสถทั้ง ๓ ซุ้มนี้ ของเก่าชำรุดทรุดโทรมไปมาก ครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ พระธรรมจินดานายก ปาพจนาปก สังฆปาโมกข์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง ผู้เป็นอารามาธิบดีวัดบุญวาทย์วิหาร นี้ได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัวเป็นมูลค่าราคา ๓๒๕ บาท ๙๕ สตรางค์ จ้างนายช่างให้ช่วยปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมและประดับกระจกสีต่าง ๆ ขึ้นใหม่ สำเร็จบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๓ ด้วยอำนาจอานิสงส์ผลทั้งนี้ ขอจงบันดาลให้สิ้นไปแห่งกิเลสนิสัยในปัจจุบันกาลและอนาคตกาลเทอญ” จิตรกรรมวัดบุญวาทย์วิหารเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องราวในอดีตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญทานบารมีอย่างยิ่งยวด ในพระชาตินี้ทรงบริจาคมหาทานอันยิ่งใหญ่ มีอะไรก็ทรงสละให้ผู้อื่นได้หมด แม้กระทั่งบุตร ภรรยา การบริจาคของพระองค์เปรียบเสมือนหม้อที่คว่ำ เพื่อให้น้ำไหลออกจนหมดไม่เหลือแม้เพียงหยดเดียว มหาเวสสันดรชาดก มีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ ประกอบด้วย ๑,๐๐๐ พระคาถา โดยสรุปย่อไว้ดังนี้
๑. กัณฑ์ทศพร พระนางผุสดีซึ่งจะทรงเป็นพระมารดาของพระเวสสันดร ทรงอธิษฐานขอเป็นมารดาของผู้มีใจบุญ จบลงตอนพระนางได้รับพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์ อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ ผู้นั้นจะได้รับทรัพย์สมบัติดังปรารถนา ถ้าเป็นสตรีจะได้สามีที่เป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจ บุรุษจะได้ภรรยาเป็นที่ต้องประสงค์อีกเช่นเดียวกันจะได้บุตรหญิงชายเป็นคนว่านอนสอนง่าย มีรูปร่างที่งดงาม มีความประพฤติดีกริยาเรียบร้อย
๒. กัณฑ์หิมพานต์ พระเวสสันดรทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสัญชัยกับพระนางผุสดี แห่งแคว้นสีวีราษฎร์ประสูติที่ตรอกพ่อค้า เมื่อพระเวสสันดรได้รับเวนราชสมบัติจากพระบิดา ได้พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่กษัตริย์แคว้นกลิงคราชฎร์ ประชาชนไม่พอใจ พระเวสสันดรจึงถูกพระราชบิดาเนรเทศไปอยู่ป่าหิมพานต์ อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ ย่อมได้สิ่งที่ปรารถนาทุกประการ ครั้นตายแล้วได้บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์เสวยสมบัติอันมโหฬาร มีบริวารแวดล้อมบำรุงบำเรออยู่เป็นนิตย์จุติจากสวรรค์แล้ว จะลงมาเกิดในตระกูลขัตติยะมหาศาลหรือตระกูลพราหมณ์มหาศาลอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคารบริวารมากมายนานาประการจะประมาณมิได้ ประกอบด้วยการสบายใจทุกอิริยาบถ
๓. กัณฑ์ทานกัณฑ์ ก่อนเสด็จไปอยู่ป่า พระเวสสันดรได้พระราชทานสัตสดกมหาทาน คือช้าง ม้า รถ ทาสชาย ทาสหญิง โคนม และ นางสนม อย่างละ ๗๐๐ อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะบริบูรณ์ด้วยแก้วแหวนเงินทอง ทาส ทาสี และสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า ครั้นตายแล้วจะได้ไปเกิดในฉกาพจรสวรรค์มีนางเทพอัปสรแวดล้อมมากมายเสวยสุขในปราสาทแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ
๔. กัณฑ์วนปเวสน์ พระเวสสันดรทรงพาพระนางมัทรีและพระชาลี ( โอรส ) พระกัณหา (ธิดา ) เสด็จจากเมืองผ่านแคว้น เจตราษฎร์ จนเสด็จถึงเขาวงกตในป่าหิมพานต์ อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้าจะได้เป็นบรมกษัตริย์ในชมพูทวีป เป็นผู้ทรงปรีชาเฉลียวฉลาดสามารถปราบอริราชศัตรูให้ย่อยยับไป
๕. กัณฑ์ชูชก ชูชกพราหมณ์ ขอทานได้นางอมิตตาบุตรสาวของเพื่อนเป็นภรรยา นางใช้ให้ชูชกไปขอสองกุมาร ชูชกเดินทางไปสืบข่าวในแคว้นสีวีราษฎร์ สามารถหลบหลีกการทำร้ายของชาวเมือง พบพรานเจตบุตรลวงพรานเจตบุตรให้บอกทางไปยังเขาวงกต อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะได้บังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ประกอบด้วยสมบัติอันงดงามกว่าคนทั้งหลาย จะเจรจาปราศรัยก็ไพเราะเสนาะโสต แม้จะได้สามีภรรยา และบุตรธิดาก็ล้วนแต่มีรูปทรงงดงามสอนง่าย
๖. กัณฑ์จุลพน ชูชกเดินทางผ่านป่าตามเส้นทางที่เจตบุตรแนะจนถึงที่อยู่ของอัจจุตฤๅษี อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ แม้จะบังเกิดในปรภพใดๆ จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติบริวาร จะมีอุทยานอันดารดาษด้วยไม้หอมตรลบไป แล้วจะมีสระโบกขรณีอันเต็มไปด้วยประทุมชาติ ครั้นตายไปแล้วก็ได้เสวยทิพยสมบัติในโลกหน้าสืบต่อไป
๗. กัณฑ์มหาพน ชูชกลวงอัจจุตฤๅษี ให้บอกทางผ่านป่าไม้ใหญ่ไปยังที่ประทับของพระเวสสันดร อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะเสวยสมบัติใดในดาวดึงส์เทวโลกนั้นแล้ว จะได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล มีทรัพย์ศฤงคารบริวารมากมี อุทยานและสระโบกขรณีที่เป็นประพาส เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศักดานุภาพเฟื่องฟุ้งไปทั่วชมพูทวีป อีกทั้งจักได้เสวยอาหารทิพย์เป็นนิตย์นิรันดร
๘. กัณฑ์กุมาร ชูชกทูลขอสองกุมาร ทุบตีสองกุมารเฉพาะพระพักตร์พระเวสสันดร แล้วพาออกเดินทาง อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ ย่อมประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ครั้นตายไปแล้วได้เกิดในฉกามาพจรสวรรค์ในสมัยที่พระศรีอาริยาเมตไตรมาอุบัติก็จะได้พบศาสนาของพระองค์ จะได้ถือปฏิสนธิในตระกูลกษัตริย์ ตลอดจนได้สดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วบรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ด้วยบุญราศีที่ได้อบรมไว้
๙. กัณฑ์มัทรี พระนางมัทรีเสด็จกลับจากหาผลไม้ในป่าออกติดตามสองกุมารตลอดทั้งคืน จนถึงทรงวิสัญญี ( สลบ ) เฉพาะพระพักตร์พระเวสสันดร เมื่อทรงฟื้นแล้วพระเวสสันดรตรัสเล่าความจริงเกี่ยวกับสองพระกุมาร พระนางทรงอนุโมทนาด้วย อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ เกิดในโลกหน้าจะเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติเป็นผู้มีอายุยืนยาวทั้งประกอบด้วยรูปโฉมงดงามกว่าคนทั้งหลาย จะไปในที่ใดๆ ก็จะมีแต่ความสุขทุกแห่งหน
๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ พระอินทร์เกรงว่าจะมีผู้มาขอพระนางมัทรี จึงแปลงเป็นพราหมณ์ชรามาทูลขอพระนางมัทรีแล้วฝากไว้กับพระเวสสันดร อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะเป็นผู้ที่เจริญด้วยลาภยศตลอดจนจตุรพิธพรทั้ง ๔ คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาล
๑๑. กัณฑ์มหาราช ชูชกเดินทางเข้าไปแคว้นสีวีราษฎร์ พระเจ้ากรุงสญชัย ทรงไถ่สองกุมาร ชูชกได้รับพระราชทานเลี้ยง และ ถึงแก่กรรมด้วยกินอาหารมากเกินควร อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติเมื่อเกิดเป็นมนุษย์จะได้เป็นพระราชาเมื่อจากโลกมนุษย์ไปก็จะไปเสวยทิพยสมบัติ ในฉกามาพจรสวรรค์มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร ครั้นบารมีแก่กล้าก็จะได้นิพพานสมบัติอันตัดเสียซึ่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ พ้นจากโอฆะทั้งสามมีกาโมฆะ เป็นต้น
๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ กษัตริย์แคว้นถลิงราชย์ทรงคืนช้างปัจจัยนาเคนทร์ พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระชาลี พระกัณหา เสด็จไปทูลเชิญพระเวสสันดร พระนางมัทรีกลับพระนคร เมื่อกษัตริย์ทั้งหกพระองค์ทรงพบกันก็ทรงวิสัญญี ต่อมาฝนโบกขรพรรษตกจึงทรงฟื้นขึ้น
๑๓. นครกัณฑ์ กษัตริย์หกพระองค์เสด็จกลับพระนคร พระเวสสันดรได้ครองราชย์ดังเดิม บ้านเมืองสมบูรณ์พูนสุข จนพระชนมายุได้ ๑๒๐ พรรษา จึงเสด็จสวรรคนิคาลัย อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะได้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยวงศาคณาญาติข้าทาสชาย - หญิง ธิดา สามี หรือบิดามารดา เป็นต้นอยู่พร้อมหน้ากันด้วยความผาสุก ปราศจากโรคาพาธทั้งปวง จะทำการใดๆ ก็พร้อมเพียงกันยังการงานนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
วัสดุ : ไม้
เทคนิค :
ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง :
สภาพปัจจุบัน : ภาพจิตรกรรมบางส่วนชำรุดเสียหาย เนื่องจากฝาผนังระบายความชื้นทำให้ภาพเสียหายรุดร่วง
แหล่งข้อมูล :
ผู้บันทึก : Tawatchai tumtong
วันที่บันทึก : 27/07/2564
เปิดอ่าน : 605 ครั้ง

การเขียนอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์
ภาพ

วิดีโอ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์

เว็บไซต์อัตลักษณ์ลำปาง
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
เลขที่ 119 หมู่ 9 ถนนลำปาง-แม่ทะ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง 52100

© 2564-2567 ระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์ จังหวัดลำปาง